ความเป็นมาของโครงการ

กรมทางหลวงชนบท มีภารกิจพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงชนบท ในประเด็นยุทธศาสตร์ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านทางยังมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพิ่ม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกำหนดกลยุทธ์ให้มีกิจกรรมก่อสร้างโครงข่ายสะพาน ตามแผนงานพัฒนาโครงข่ายสะพาน เพื่อเชื่อมสองฝั่งลำน้ำเป็นทางเชื่อม (Missing Link) และทางลัด (Shortcut)ช่วยให้ราษฎรในภูมิภาคสามารถเดินทางสัญจรขนส่งผลผลิตทางการเกษตรได้สะดวกรวดเร็วโดยปลอดภัย จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการจัดทำแบบก่อสร้างและประมาณราคาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนี่ยังเป็นการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบกให้ขยายตัวเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอได้ทั่วถึงกัน ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างพอเพียงและยั่งยืนตลอดไป

โครงการสำรวจออกแบบโครงข่ายสะพานนี้เป็นการสำรวจและออกแบบรายละเอียดสะพานจำนวน 6 แห่ง ตามแผนงานพัฒนาโครงข่ายสะพานมีลักษณะงานที่ซับซ้อนมาก เนื่องจากสะพานทั้ง 6 แห่ง อยู่ต่างพื้นที่และต่างลำน้ำ อยู่ในชุมชนบ้างหรือลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเนินเขา การสำรวจเก็บข้อมูลและการออกแบบรายละเอียดจึงมีการปฏิบัติงานเป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่ รูปแบบสะพานทางเรขาคณิตต้องเป็นไปตามระเบียบข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ การออกแบบโครงสร้างต้องคำนึงถึงแรงจากแผ่นดินไหว แต่ความสามารถก่อสร้างได้ตามข้อจำกัดของพื้นที่ การออกแบบทางชลศาสตร์ต้องพิจารณาปริมาณน้ำจากเหตุการณ์เกิดอุทกภัยในอดีต รวมทั้งการวิเคราะห์การกัดเซาะของกระแสน้ำ โดยเฉพาะการอุทิศที่ดินจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เพื่อให้ได้มาซึ่งเขตทาง ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่โครงการเกี่ยวกับมาตรฐานงานทางและสะพานของกรมทางหลวงชนบท