บทที่ 3 แนวทางและวิธีการดำเนินงาน

3.1     ยุทธศาสตร์และหลักการบริหารโครงการ

            เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการคือการควบคุมงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์อย่างมีคุณภาพภายใต้งบประมาณและระยะเวลาที่กำหนดด้วยความปลอดภัยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่านอกจากการวางแผนการนำแผนไปปฏิบัติและการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพแล้วการบริหารจัดการนับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งต่อความสำเร็จของโครงการซึ่งก็คือการนำความรู้ทักษะทรัพยากรและเทคนิคไปปฏิบัติในกิจกรรมหรือภารกิจต่างๆอย่างเหมาะสมโดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุม5 ข้อคือ

(1)    การบริหารตารางเวลาและงบประมาณเป็นการบริหารแผนการก่อสร้างและประเมินผลการทำงานของผู้รับจ้างอย่างทันสถานการณ์ทำให้สามารถคาดหมายและให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงแผนงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งยังสามารถประเมินความก้าวหน้าของงานในรูปของต้นทุนโครงการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

(2)    การบริหารคุณภาพงานเป็นการบริหารที่มุ่นเน้นการให้คำแนะนำที่จำเป็นด้านเทคนิคแก่ผู้รับจ้างและร่วมตรวจสอบคุณภาพของงานก่อสร้างให้เป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนมีคุณภาพตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอนอันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ควบคุมงานก่อสร้างและผู้รับจ้าง

(3)    การบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นการจัดสรรหรือมอบหมายบุคลากรหรือทีมงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีจำนวนเพียงพอกับงานที่ได้จำแนกภารกิจและกิจกรรมให้ครอบคลุมขอบเขตของงานในระยะเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสมสอดคล้องกัน

(4)    การติดต่อสื่อสารและประสานงานเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการทำงานทุกๆกิจกรรมที่เกิดขึ้นการประสานงานภายในกลุ่มของผู้ควบคุมงานการประสานงานระหว่างกรม– ผู้ควบคุมงาน– ผู้รับจ้างตลอดจนการประสานงานระหว่างโครงการกับหน่วยงานราชการอื่นหรือบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งนี้การจัดประชุมทั้งในลักษณะกลุ่มย่อยการประชุมเป็นประจำและการประชุมเฉพาะกรณีจะถูกนำมาใช้เป็นวิธีการสำคัญของการประสานงานควบคู่กับมาตรการติดตามผลการประสานงานอย่างใกล้ชิด

(5)    การบริหารความเสี่ยงเป็นการเตรียมการหรือคาดการณ์เหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเริ่มโครงการแล้วว่าจะมีผลกระทบต่อโครงการในแง่ขอบเขตของงานระยะเวลาและงบประมาณอย่างไรซึ่งจะรวมถึงการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบดังกล่าวด้วย

ในขณะที่หน้าที่และภารกิจหลักของที่ปรึกษาในการสนับสนุนช่วยเหลือกรมในการควบคุมงานก่อสร้างโครงการดังกล่าวอย่างย่อๆคือดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมในการอำนวยความสำเร็จและประสิทธิผลให้เกิดขึ้นแก่กิจกรรมการก่อสร้างของโครงการซึ่งอาจจำแนกตามประเภทของงานได้เป็น4 ภารกิจหลักคือ

  • งานบริหารสัญญา
  • งานบริหารงานวิศวกรรมด้านการจัดทำแบบเพื่อการก่อสร้าง
  • งานบริหารงานวิศวกรรมด้านการก่อสร้าง
  • งานตรวจสอบคุณภาพ ผลงานและปริมาณงาน

ทั้งนี้ภารกิจหลักทั้ง4 ด้านจะต้องดำเนินการไปอย่างสอดคล้องกับประเด็นการบริหารจัดการอย่างพร้อมเพียงและต่อเนื่องจนกระทั่งโครงการสำเร็จลุล่วงโดยมีรายละเอียดดังนี้

(1)    งานบริหารสัญญา

งานบริหารสัญญาเป็นการบริหารจัดการพันธะกรณีระหว่างกรมกับผู้รับจ้าง โดยที่ปรึกษาจะให้คำปรึกษา สนับสนุนช่วยเหลือ และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมเพื่อบริหารสัญญาให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ หน้าที่ และภารกิจในงานบริหารสัญญาประกอบด้วย กรอบของภารกิจแสดงในตารางที่ 3.1-1

(2)    งานบริหารงานด้านการจัดทำแบบเพื่อการก่อสร้าง

ที่ปรึกษามีหน้าที่ในการตรวจสอบและทบทวนแบบรูปหากมีอุปสรรคไม่สามารถก่อสร้างได้แม้ว่าการก่อสร้างของโครงการจะเป็นงานก่อสร้างตามแบบรายละเอียดก็ตามนอกจากนี้ความจำเป็นในการจัดทำShop Drawing และWorking Drawing โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับงานโครงสร้างชั่วคราว (Temporary Works) สำหรับโครงสร้างสะพานยังคงเป็นภาระหน้าที่ของผู้รับจ้างในการจัดทำแบบดังกล่าวซึ่งที่ปรึกษาจะมีบทบาทในการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิชาวิศวกรรมและความสอดคล้องกับขั้นตอนการก่อสร้างที่นำมาใช้ในภาคสนามของผู้รับจ้าง

(3)    งานบริหารงานด้านการก่อสร้าง

สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นงานก่อสร้างในโครงการนี้การวางแผนและการบริหารงานด้านการก่อสร้างนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในโครงการการบริหารโครงการที่มีประสิทธิภาพจะสามารถแก้ไขปัญหาการก่อสร้างด้านต่างๆได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยการติดตามการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและการจัดทำรายงานสรุปข้อปัญหาการก่อสร้างพร้อมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆไว้อย่างถี่ถ้วนพร้อมมูลทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมตารางเวลาได้ตามเป้าหมายแผนภูมิแสดงภารกิจหลักงานบริหารงานด้านการก่อสร้างของโครงการ

(4)    งานตรวจสอบคุณภาพผลงานและปริมาณงาน

งานตรวจสอบคุณภาพผลงานและการประเมินปริมาณงานเพื่อการเบิกจ่ายค่างวดงานก่อสร้างเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้รู้ถึงการใช้งบประมาณที่แท้จริงซึ่งเป็นส่วนขับเคลื่อนให้โครงการดำเนินไปข้างหน้าจนบรรลุเป้าหมายโดยโครงการนี้มีการนำราคาต่อหน่วยแบบปรับราคาได้ (Price Adjustment) ตามค่าดัชนีปรับราคาK (Escalation Factor) มาใช้ประกอบในการประเมินค่างวดงานที่ปรึกษาจึงมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการคำนวณราคาที่ปรับในแต่ละรายการก่อสร้างอย่างถี่ถ้วนของแต่ละงวดงานที่ผู้รับจ้างขอตั้งเบิกจ่าย

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาได้ทำการประมวลรายละเอียดและจัดทำตารางแสดงการทดสอบวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างโดยแยกหมวดหมู่ตามลักษณะงานตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดรายละเอียดงานการก่อสร้าง (Specifications) อาทิเช่น งานดิน งานฐานราก งานถนน งานโครงสร้าง ดังแสดงไว้ในตารางที่ 4.1-2 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการทดสอบคุณสมบัติวัสดุประเภทต่างๆ ที่ผู้รับจ้างต้องนำเสนอขออนุมัติตามข้อกำหนดของโครงการ

3.2      การควบคุมคุณภาพการให้บริการของที่ปรึกษา

เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่กรมว่าภาคปฏิบัติงานของที่ปรึกษาจะสามารถอำนวยผลงานควบคุมการก่อสร้างและบริหารโครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ปรึกษาจะจัดให้มีการควบคุมคุณภาพในการควบคุมงานโดยนำการบริหารงานตามแนวทางของมาตรฐานชุดISO 9000 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยเรื่องระบบการประกันคุณภาพและเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลกมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินงานในโครงการนี้ด้วยโดยมีเอกสาร“ข้อแนะนำการจัดการระบบฐานข้อมูลโครงการ”เป็นคู่มือถือปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร

งานด้านเอกสารเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กับงานก่อสร้างในภาคสนามเนื่องจากเป็นงานที่สัมพันธ์กันหลายด้านดังนี้

(1)    ด้านเงื่อนไขสัญญา ซึ่งเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายระหว่างคู่สัญญา

(2)    ด้านเทคนิค วิศวกรรม อันเป็นข้อกำหนดในการก่อสร้างให้มีคุณภาพตามสัญญาจ้าง

(3)    ด้านการเบิกจ่ายค่างานก่อสร้าง ตามที่ระบุไว้ในสัญญา

(4)    ด้านการเปลี่ยนแปลงอบเขตของงาน ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง หรือยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการก่อสร้างตามที่มีการระบุไว้ในสัญญาจ้าง

(5)    ด้านการประกันคุณภาพ และบำรุงรักษา

(6)    ด้านความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง เป็นต้น

(7)    เอกสารบันทึกการประชุม และการสั่งการในระหว่างการก่อสร้างของผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ

(8)    รายงานต่างๆ ที่ต้องมีการจัดทำในระหว่างการก่อสร้าง

(9)    แบบรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องมีการจัดทำในระหว่างการก่อสร้าง

(10)  การขออนุมัติเห็นชอบในการใช้วัสดุ หรือวิธีการก่อสร้าง หรือขั้นตอนการก่อสร้าง หรือวิธีการจัดจราจร หรือกิจกรรมการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ เป็นต้น

เอกสารต่างๆข้างต้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของคุณภาพงานก่อสร้างตามสัญญาจ้างการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างด้านเอกสารอย่างเป็นระบบจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งประสิทธิภาพในการควบคุมงานก่อสร้างของโครงการ

สำหรับแนวทางในการควบคุมคุณภาพในการควบคุมงานนั้น ที่ปรึกษาจะจัดให้มี “แผนคุณภาพโครงการ” (Project Quality Plan) โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้

(1)    แผนคุณภาพงานในการจัดการเอกสาร

(2)    แผนคุณภาพงานในการควบคุมการจัดทำแบบเพื่อการก่อสร้าง

(3)    แผนคุณภาพงานในการควบคุมการผลิต

(4)    แผนคุณภาพงานในการควบคุมการก่อสร้างและติดตั้ง

 

 

 

 

3.2.1   แผนคุณภาพงานในการจัดการเอกสาร

(1)    การจัดองค์กรและความรับผิดชอบ

  • จัดให้มีผังการบริหารของคณะทำงานที่แบ่งอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน
  • จัดทำรายงานตามลำดับชั้นในรูปรายงานประจำวัน ประจำสัปดาห์ และประจำเดือน
  • จัดให้มีการประชุมตามวาระและตามความจำเป็นในการติดตามและการแก้ไขปัญหางาน
  • จัดทำตารางแสดงรายชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร ตลอดจน E-mailAddress ของผู้ที่เกี่ยวข้องในงานด้านต่างๆ เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงานในการดำเนินงานและการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างทันท่วงที

(2)    ระบบควบคุมเอกสาร

  • มีระเบียบการจัดเก็บที่ประหยัดและสามารถเรียกหาได้รวดเร็วมีการกำหนดอายุเอกสารตามประเภท
  • มีระเบียบการออกหนังสือตามระดับชั้นที่สอดคล้องตามอำนาจหน้าที่มีสำเนาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถรับรู้ได้
  • มีระเบียบการรับการแจกจ่ายเอกสารควบคุมที่ประกันว่าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้รับข้อมูลฉบับล่าสุดที่ครบถ้วนไม่สบสนเช่นเอกสารสัญญาข้อกำหนดระเบียบปฏิบัติวิธีการก่อสร้างเป็นต้น

(3)    ระบบฐานข้อมูล

มีโปรแกรมระบบฐานข้อมูลสำเร็จรูปเพื่อการค้นหาและรายงาน สำหรับเอกสารโต้ตอบ

(4)    การตรวจ ทบทวน และปรับแก้ระบบคุณภาพงาน

  • มีการตรวจ ทบทวน และปรับแก้ระบบคุณภาพงานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ที่มีผู้บริหารระดับสูงของโครงการร่วมด้วย
  • มีการฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ใหม่เป็นระยะ

3.2.2   แผนคุณภาพงานการควบคุมการจัดการจัดทำแบบเพื่อการก่อสร้าง

(1)    การจัดองค์กร มีการแบ่งความรับผิดชอบและกำหนดผู้ประสานงานในแต่ละส่วน

  • ระหว่างสำนักงานส่วนกลางและสำนักงานสนามของทั้งกรมและที่ปรึกษา
  • ระหว่างฝ่ายในสำนักงานสนาม เช่น ฝ่ายสำรวจ ฝ่ายโครงสร้าง ฝ่ายระบบไฟฟ้า ฝ่ายระบบระบายน้ำ เป็นต้น
  • ระหว่างงานหลักและงานประกอบ
  • ระหว่างผู้รับจ้าง ผู้ออกแบบ และผู้ผลิตจำหน่าย

(2)    กำหนดขั้นตอนและรูแบบที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้ในการปฏิบัติภารกิจ

  • การขอความเห็นชอบคู่มือ มาตรฐาน ข้อบัญญัติ ข้อกำหนด ที่ถือเป็นเกณฑ์ในการออกแบบโครงสร้างชั่วคราว
  • การขอความเห็นชอบวิธีและขั้นตอนการก่อสร้างตามที่ใช้ออกแบบโครงสร้างชั่วคราว
  • การขอความเห็นชอบบุคลากรผู้ออกแบบทั้งด้านประสบการณ์และใบอนุญาตตามกฎหมาย
  • การขอความเห็นชอบแผนการจัดเตรียมและยื่นเสนอแบบ
  • การขอความเห็นชอบแบบขยายและรายละเอียดเพื่อใช้ในการก่อสร้าง
  • การประสานงานในขั้นการจัดเตรียมแบบจนถึงขั้นการก่อสร้าง
  • การขอความเห็นชอบแบบตามที่ก่อสร้างจริง เพื่อเป็นข้อมูลในการใช้งานและซ่อมบำรุง

(3)    การควบคุมแบบและเอกสารประกอบ

           จะกำหนดผู้ควบคุมแบบและเอกสารประกอบ ซึ่งมีหน้าที่

  • จัดเก็บ แจกจ่าย และจัดทำบัญชีแบบ
  • ระบุ สถานภาพการออกแบบ และสถานภาพการอนุมัติ ในแบบทุกฉบับ
  • แจกจ่ายแบบทุกฉบับตามบัญชีรายชื่อที่กำหนด
  • บัญชีแบบจะถูกจัดเก็บด้วยโปรแกรมฐานข้อมูลสำเร็จรูปที่มีประวัติการยื่นเสนอ การปรับแก้ไข การพิจารณา และสถานภาพการอนุมัติของแบบทุกฉบับ

3.2.3   แผนคุณภาพงานในการควบคุมการผลิต

(1)    กำหนดผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบ เกณฑ์การพิสูจน์คุณภาพ การยอมรับงาน และผลทดสอบ

(2)    กำหนดการแบ่งและร่วมงานการให้ความเห็นชอบระหว่างฝ่ายควบคุมวัสดุ ฝ่ายวิศวกรรมงานโยธา ฝ่ายสถาปัตยกรรม ฝ่ายวิศวกรรมงานระบบต่างๆ และฝ่ายผู้ว่าจ้าง

(3)    กำหนดขั้นตอน รูปแบบ ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้ในการปฏิบัติภารกิจ

  • การขอความเห็นชอบกระบวนการ เทคนิค วิธี เครื่องจักรอุปกรณ์ ระบบประกันคุณภาพตลอดจนฝีมือแรงงานที่ใช้ในการผลิตตามข้อกำหนดของสัญญา
  • การขอความเห็นชอบวัตถุดิบ วัสดุ ที่ใช้ในการผลิตและประกอบ
  • การขอความเห็นชอบแผนการผลิต การจัดเก็บ และการลำเลียง
  • การขอความเห็นชอบสถาบันทดสอบ เครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบ และการทดสอบพิเศษ

(4)    กำหนดให้มีการบันทึกและจัดเก็บเอกสารการตรวจสอบทุกั้นตอน ให้สามารถย้อนสอบสวนได้ง่าย

 

3.2.4   แผนคุณภาพงานในการควบคุมการก่อสร้างและติดตั้ง

(1)    กำหนดผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบเกณฑ์การยอมรับงาน วิธีซ่อมงาน และสั่งการสนามในระดับต่างๆ ในการควบคุมงานตามเวลาทำงานปกติและการควบคุมงานแบบตลอด 24 ชั่วโมง

(2)    กำหนดขั้นตอนและรูปแบบที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้ในการปฏิบัติภารกิจ

  • การขอความเห็นชอบกระบวนการ เทคนิค วิธี เครื่องจักรอุปกรณ์ ระบบประกันคุณภาพตลอดจนฝีมือแรงงานที่ใช้ในการก่อสร้างและติดตั้ง
  • การขอความเห็นชอบผู้รับเหมาช่วงงานในสนาม
  • การขอความเห็นชอบความพร้อมในการเตรียมงานเพื่อให้เริ่มงาน ทั้งด้านแบบ วัสดุ เครื่องจักร และกำลังคน ตลอดจนความพร้อมของงานก่อนหน้าและงานที่คาบเกี่ยว
  • การขอความเห็นชอบความพร้อมในสนามที่จะเริ่มงาน ทั้งด้านพื้นที่ ทางเข้าออก และมาตรการด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการจราจร
  • การขอปฏิบัติงานประจำวัน เช่น ขอเทคอนกรีต ขอถอดแบบ ขอทำการดึงลวดอัดแรงขอทำการทดสอบในสนาม และขอให้ตรวจรับงาน เป็นต้น
  • การมีระบบประกันคุณภาพงานที่ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายก่อสร้างและติดตั้ง และฝ่ายควบคุมงาน ได้ร่วมกันควบคุมดูแลทุกขั้นตอนตามผังการติดตั้งและทดสอบ (Installation and Test Plan) รายงานความสมบูรณ์ของงาน (Conformance and Non-Conformance Report) และใบรายการตรวจสอบงาน (Inspection Check Sheet)

(3)    มีระบบข้อมูลที่ต้องการบันทึกและรายงาน นอกเหนือจากการตรวจกำกับงานตามเอกสารระบบควบคุมคุณภาพงาน เช่น วัน เวลาทำงาน สภาพแวดล้อม และปัญหาอุปสรรค เป็นต้น

  • การบันทึกการควบคุมงานประจำวัน
  • การบันทึกและรายงานแยกประเภท เช่น งานเทคอนกรีต งานระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ งานเหล็ก และงานเก็บตกแต่ง เป็นต้น
  • การสรุปปัญหาและให้มีการประชุมประสานงานในรอบสัปดาห์ และรอบเดือน
  • การจัดเก็บเอกสารอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้ค้นหาได้ง่าย
  • การบันทึกด้วยโปรแกรมระบบฐานข้อมูลสำเร็จรูปสำหรับข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการบริหารและติดตามงาน

3.3      แนวทางการดำเนินงานตามรายการข้อกำหนด

ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมงานหรือวิศวกรของผู้ว่าจ้างตามที่ระบุไว้ในเอกสารประกวดราคา และจะควบคุมการก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยโดยสมบูรณ์ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2-5) และระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวทางการดำเนินงานตามรายการข้อกำหนดดังต่อไปนี้

(1)    กำกับดูแลผู้รับจ้างในการสำรวจเขตทางเพื่อกำหนดเขตก่อสร้าง พร้อมทั้งแนะนำผู้รับจ้างถึงตำแหน่ง จุดพิกัด และระดับของหมุดหลักฐานของโครงการ รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้รับจ้างทำการ จัดทำหมุดหลักฐานชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อง่ายต่อการก่อสร้างและตรวจสอบ

ก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างที่ปรึกษาจะทำการสำรวจหมุดหลักฐานและหมุดอ้างอิงต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างตามที่ระบุไว้ในแบบ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้องของหมุดเหล่านั้นด้วยการสร้างโครงข่ายวงรอบสำรวจยึดโยงเข้าหาหมุดหลักฐานหลักของโครงการซึ่งเป็นหมุดที่ผ่านความเห็นชอบจากกรมแล้วว่าให้นำมาใช้อ้างอิงได้ ในกรณีที่สำรวจแล้วพบว่ามีความเคลื่อนเกิดขั้น ที่ปรึกษาก็จะดำเนินการปรับแก้ให้ถูกต้อง และหากพบว่าจำเป็นต้องสร้างหมุดหลักฐาน หมุดอ้างอิงขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่สูญหายหรือชำรุดรวมทั้งที่ต้องสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการนำหมุดต่างๆ เหลานี้ไปใช้อ้างอิงในการก่อสร้าง ที่ปรึกษาก็จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น ที่ปรึกษาจะแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบถึงรายละเอียดของตำแหน่ง ค่าพิกัด ค่าระดับของหมุดหลักฐานทั้งหมดของโครงการ และกำกับดูแลผู้รับจ้างในการสำรวจเพื่อกำหนดเขตก่อสร้างที่ถูกต้อง รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้รับจ้างในการจัดทำหมุดหลักฐานชั่วคราวเพิ่มเติมเพื่อง่ายต่อการสร้างและตรวจสอบ โดยมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้

  • การตรวจสอบงานสำรวจพื้นที่เพื่อการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างและเตรียมการก่อสร้าง (Reconnaissance, Land Possession & Site Preparation)

การตรวจสอบงานสำรวจพื้นที่เพื่อการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างและเตรียมก่อสร้างโครงการเป็นการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงขอบเขตของโครงการที่ถูกต้อง และเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาต่อชุมชนหรือบุคคลอื่นๆ รวมสิ่งปลูกสร้างและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยดำเนินการประสานกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

การตรวจสอบแนวเขตทางที่ถูกต้องเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญของการเตรียมพื้นที่เพื่อการก่อสร้างซึ่งจะดำเนินการโดยประสานงานกับกรมและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายการเวนคืนที่ดิน

ในการตรวจสอบงานส่วนดังกล่าวข้างต้น จะมีการสำรวจและบันทึกข้อมูลในรูปแบบค่าพิกัด UTM (Universal Transverse  Mercator System) ซึ่งมีความถูกต้องและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ข้อมูลนี้จะทำการสำรวจและบันทึกโดยอ้างอิงจากวงรอบชั้นที่ 1 ของโครงการ      (First Order Traversal) ข้อมูลนี้จะเป็นฐานข้อมูลหลักที่มีความสำคัญมากทั้งขณะเริ่มต้นโครงการ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ

  • การตรวจสอบงานสำรวจเพื่อกำหนดจุดควบคุมหลักทางแนวราบ (Traverse : Horizontal Control Monument) และจุดควบคุมหลักทางแนวดิ่ง (Leveling: Vertical Control)

การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดจุดควบคุมหลักทางแนวราบและจุดควบคุมหลักทางแนวดิ่งซึ่งทางงานสำรวจกำหนดเป็นงานวงรอบและงานระดับนอกจากนี้เนื่องจากโครงการนี้แบ่งงานก่อสร้างออกเป็นหลายสัญญาดังนั้นการกำหนดจุดควบคุมหลักของทุกสัญญาจึงต้องยึดถืออ้างอิงมาจากข้อมูลเดียวกันซึ่งในการทำงานจะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นต่องานก่อสร้างทั้งหมดของโครงการ

  • งานวงรอบ

งานวงรอบจะทำการสำรวจโดยอ้างอิงจากหมุดควบคุมหลักทางแนวราบ (ระบุค่าพิกัดเหนือ-ตะวันออก : N-E)ของโครงการซึ่งได้รับมอบจากกรม งานวงรอบนี้จะสำรวจแบบวงรอบปิดจากหมุดควบคุมหลักทางแนวราบของจุดเริ่มต้นโครงการไปยังหมุดควบคุมหลักทางแนวราบของจุดสิ้นสุดโครงการและสำรวจกลับไปที่หมุดควบคุมหลักทางแนวราบที่เริ่มต้นงานสำรวจ

วิธีการ หลักการ การกำหนดจุดควบคุมในวงรอบ การคำนวณปรับแก้ค่าวงรอบ จะเป็นไปตามมาตรฐานงานสำรวจ กำหนดให้ค่าความถูกต้องของงานวงรอบอยู่ในระดับงานวงรอบชั้น 1 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนของระยะทางราบไม่น้อยกว่า 1:100,000 และค่าความคลาดเคลื่อนของมุมราบไม่เกิน  หมุดควบคุมทางแนวราบนี้จะต้องได้รับการตรวจสอบ โดยทำวงรอบซ้ำตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ หรือทุกครั้งที่มีเหตุอันน่าจะมีผลกระทบต่อหมุดควบคุม

  • งานระดับ

งานวงรอบระดับจะทำการสำรวจโดยอ้างอิงจากหมุดหลักทางแนวดิ่งของหน่วยงานภาครัฐ (ระบุค่าระดับ รทก./MSL.)ซึ่งอยู่ใกล้เคียงโครงการและเป็นที่ยอมรับจากกรม งานวงรอบระดับนี้จะสำรวจแบบวงรอบปิด จากหมุดควบคุมหลักทางแนวดิ่งของจุดเริ่มต้นโครงการไปยังหมุดควบคุมหลักทางแนวดิ่งของจุดสิ้นสุดโครงการและสำรวจ กลับไปที่หมุดควบคุมหลักทางแนวดิ่งที่เริ่มต้นงานสำรวจ

วิธีการ หลักการ การกำหนดจุดควบคุมในวงรอบระดับ การคำนวณปรับแก้ค่าวงรอบระดับ จะเป็นไปตามมาตรฐานงานสำรวจ กำหนดให้ค่าความถูกต้องของงานวงรอบระดับนี้ มีค่าความคลาดเคลื่อนของระดับไม่มากกว่า หน่วยเป็นมิลลิเมตร หมุดควบคุมทางแนวดิ่งนี้จะต้องได้รับการตรวจสอบโดยทำวงรอบระดับซ้ำตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ หรือทุกครั้งที่มีเหตุอันน่าจะมีผลกระทบต่อหมุดควบคุม

(2)    กำกับดูแลผู้รับจ้างในการประสานงานกับผู้แทนของสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงชนบทเพื่อปักหมุดเขตที่ดิน (เพิ่มเติม) ตามเขตที่ดินที่กรมได้รับมอบจากผู้ที่อุทิศที่ดิน หรือตามเขตที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไว้ และร่วมประสานงานแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างได้

       การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยเป็นลำดับแรกก่อนการดำเนินโครงการการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างล่าช้าหรือไม่สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างของผู้รับจ้างจะมีผลทำให้งานก่อสร้างโครงการไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนงานและอาจเป็นสาเหตุที่ผู้รับจ้างนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการขอขยายระยะเวลาของสัญญาหรือเรียกร้องเงินชดเชยจากกรมได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของที่ปรึกษาพบว่าปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้าส่วนใหญ่เกิดจากการขาดการประสานงานที่ดีจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนั้นสำหรับโครงการนี้นอกจากงานสำรวจตรวจสอบพื้นที่และแนวเขตทางแล้วที่ปรึกษาจะกำกับดูแลผู้รับจ้างในการประสานงานกับผู้แทนของสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดหรือเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงชนบทเพื่อปักหมุดเขตที่ดิน (เพิ่มเติม) ตามเขตที่ดินที่กรมได้รับมอบจากผู้ที่อุทิศที่ดินหรือตามเขตที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไว้โดยจะจัดให้มีวิศวกรพร้อมบุคลากรสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งไว้สำหรับช่วยเหลือกรมในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโดยเฉพาะโดยมีหน้าที่ในการจัดเตรียมข้อมูลจัดทำเอกสารต่างๆติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆรวมทั้งติดตามและรายงานผลให้กรมทราบเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

(3)    ควบคุมการก่อสร้างตามรายละเอียดของงานทุกรายการที่ปรากฏอยู่ในสัญญาก่อสร้างระหว่างกรมและผู้รับจ้าง รวมถึงงานรื้อย้ายงานสาธารณูปโภคเพื่อให้ได้รูปแบบและคุณภาพถูกต้องตามที่ระบุในเอกสารสัญญา

       ที่ปรึกษาจะดำเนินการวบคุมการก่อสร้างตามรายละเอียดของงานทุกรายการที่ปรากฏอยู่ในเอกสารสัญญาก่อสร้างระหว่างกรมและผู้รับจ้างก่อสร้างซึ่งได้แก่สัญญาจ้างเงื่อนไขของสัญญาแบบรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้างข้อกำหนดพิเศษและเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องรวมถึงงานรื้อย้ายงานสาธารณูปโภคโดยที่ปรึกษาจะทำการตรวจสอบและทบทวนเอกสารต่างๆดังกล่าวข้างต้นอย่างรวดเร็วทั้งนี้หากพบว่ามีข้อขัดแย้งหรือข้อผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องของเอกสารสัญญาต่างๆที่ปรึกษาจะแจ้งให้กรมทราบพร้อมทั้งเสนอแนะสิ่งที่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์และนำเสนอต่อกรมเพื่อขอความเห็นชอบในการนำมาใช้งานต่อไป

       หลังจากนั้นก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างใดๆที่ปรึกษาจะทำความเข้าใจในรายละเอียดของงานก่อสร้างทุกรายการร่วมกับกรมและผู้รับจ้างก่อสร้างเพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันซึ่งเมื่อทุกฝ่ายได้เข้าใจตรงกันแล้วก็จะสามารถวางแผนและวิธีการก่อสร้างได้ถูกต้องโดยที่ปรึกษาจะคอยควบคุมดูแลให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานและข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดทั้งนี้เพื่อให้ได้รูปแบบและคุณภาพของงานก่อสร้างทุกรายการถูกต้องตามที่ระบุในเอกสารสัญญา

(4)    ในกรณีที่มีการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภคร่วมกับการก่อสร้างถนนและสะพานของโครงการ ให้ที่ปรึกษาประสานงานและจัดลำดับการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในงานก่อสร้างของกรม

       เนื่องจากการรื้อย้ายและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทดแทนเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการของกิจกรรมหลักของโครงการดังนั้นที่ปรึกษาจะเร่งดำเนินการประสานร่วมกับผู้รับจ้างและหน่วยงานสาธารณูปโภคในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งจากกรมให้เริ่มปฏิบัติงานได้โดยจะมอบหมายให้วิศวกรโครงการเป็นผู้ประสานงานหลักในเรื่องนี้พร้อมมีวิศวกรโยธาและวิศวกรไฟฟ้าซึ่งมีความเข้าใจและคุ้นเคยในการประสานงานกับหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ช่วยเหลือวิศวกรโครงการในรายละเอียดด้านเทคนิคซึ่งจะช่วยเหลือในการจัดเตรียมข้อมูลระบบสาธารณูปโภคในบริเวณพื้นที่โครงการการจัดการประชุมร่วมและออกสำรวจในภาคสนามเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของระบบสาธารณูปโภคที่จะต้องรื้อย้ายและร่วมประสานงานในการกำหนดตำแหน่งที่จะก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทดแทนรวมถึงระยะเวลาขั้นตอนและวิธีการรื้อย้าย/ก่อสร้างที่เหมาะสมโดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการต่อประชาชนเกินความจำเป็นหรือทำให้กิจกรรมการก่อสร้างหลักของโครงการต้องล่าช้าออกไปทั้งนี้ในการประสานงานข้างต้นจะได้คำนึงถึงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติมซึ่งหน่วยงานสาธารณูปโภคจะดำเนินการไปพร้อมกับงานก่อสร้างของโครงการเพื่อให้บริการแก่พื้นที่โครงการทั้งในช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง (ถ้ามี) และช่วงเปิดให้บริการโครงการอีกด้วย

       ที่ปรึกษาจะประสานงานร่วมกับผู้รับจ้างและหน่วยงานสาธารณูปโภคในการปรับปรุงแก้ไขแบบการก่อสร้างให้สอดคล้องตามรูปแบบการรื้อย้ายและก่อสร้างทดแทนรวมถึงระบบสาธารณูปโภคในส่วนที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมที่ได้ตกลงร่วมกันและได้ข้อยุติแล้วรวมถึงจัดลำดับการรื้อย้ายและก่อสร้างให้สอดคล้องและไม่กระทบต่อกิจกรรมหลักตามแผนงานก่อสร้างของโครงการก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบจากกรมทั้งนี้ในระหว่างขั้นตอนดำเนินงานรื้อย้ายที่ปรึกษาจะติดตามตรวจสอบความคืบหน้าและรายงานให้กรมทราบอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆหากปรากฏพบอุปสรรคหรือขัดแย้งใดๆที่ปรึกษาจะรีบแจ้งให้กรมทราบพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือกรมในการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดให้งานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคปัจจุบันแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

(5)    ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบแผนงาน วิธีการก่อสร้างของแต่ละงานหลัก แผนและวิธีการบริหารจัดการเรื่องการอำนวยความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างของแต่ละงานหลัก องค์กรการทำงาน กำลังคน และเครื่องจักรเครื่องมือที่เสนอโดยผู้รับจ้าง ทั้งนี้จะต้องพิจารณาควบคุมดูแลให้การก่อสร้างมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของบุคคลภายใน และภายนอกบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ก่อสร้าง โดยให้เป็นไปตามแผนและวิธีการที่ผู้รับจ้างเสนอและได้รับการอนุมัติแล้ว ทั้งนี้ หากแผนและวิธีการก่อสร้างและการอำนวยความปลอดภัยของผู้รับจ้างยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาที่จะไม่อนุญาตให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างงานหลักนั้นๆ และถือเป็นความรับผิดชอบของที่ปรึกษาหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นในพื้นที่ก่อสร้าง

       ที่ปรึกษาจะตรวจสอบและให้ความเห็นชอบแผนงานวิธีการก่อสร้างของแต่ละงานหลักแผนและวิธีการบริหารจัดการเรื่องการอำนวยความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างของแต่ละงานหลักองค์กรการทำงานกำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือที่เสนอโดยผู้รับจ้างให้สอดคล้องกับนโยบายของกรม

       ทั้งนี้ที่ปรึกษาจะใช้ประสบการณ์จากการควบคุมงานก่อสร้างโครงการต่างๆที่ผ่านมาร่วมกับการพิจารณารายละเอียดต่างๆของโครงการเช่นสภาพพื้นที่โครงการลักษณะและรูปแบบของโครงการระยะเวลาในการก่อสร้างปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมทั้งข้อจำกัดอื่นๆของโครงการโดยปัจจัยเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบและให้ความเห็นความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างซึ่งจะประกอบด้วยแผนงานวิธีการก่อสร้างองค์กรการทำงานกำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือที่จะใช้ในการก่อสร้างในการพิจารณาตรวจสอบและให้ความเห็นต่อแผนงานวิธีการก่อสร้างองค์กรการทำงานกำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือที่เสนอโดยผู้รับจ้างดังกล่าวข้างต้นที่ปรึกษาจะพิจารณาตรวจสอบในประเด็นที่สำคัญซึ่งพอกล่าวโดยสังเขปดังนี้

  • ตรวจสอบความถูกต้อง เช่น รูปแบบของแผนงานและวิธีการก่อสร้างเป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาหรือไม่ ลำดับขั้นตอนการก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ ปริมาณงานแต่ละประเภทถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เป็นต้น
  • ตรวจสอบความครบถ้วน เช่น หัวข้องานที่ระบุในแผนงานครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดประวัติและประสบการณ์ของบุคลากรหลักครบถ้วนเพียงพอหรือไม่
  • ตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เช่น ระยะเวลาและวิธีการก่อสร้าง ในแต่ละขั้นตอนมีความเหมาะสมและเป็นไปได้หรือไม่ การจัดหา และขนส่งวัสดุสอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างหรือไม่ คุณสมบัติของบุคลากรหลักที่รับผิดชอบงานแต่ละด้านมีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น

แนวทางในการดำเนินงานที่ปรึกษาแยกอธิบายในแต่ละส่วนดังนี้

  • แผนงาน

            แผนงานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างเสนอให้กรมพิจารณานั้นจะต้องแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาที่ผู้รับจ้างคาดว่าจะใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆทั้งหมดของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบแล้วเสร็จโดยแผนงาจะต้องจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์และนำเสนอในรูปแบบของCritical Path Method (CPM) โดยจะต้องแสดงในรูปกราฟแท่งหรือแผนภูมิโครงข่ายเวลาเทียบเป็นสัปดาห์หรือเดือนเพื่อที่จะได้ทราบถึงความก้าวหน้าและสามารถปรับแผนหรือเร่งงานต่างๆได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพแผนงานจะประกอบด้วยแผนงานของกิจกรรมต่างๆอย่างน้อยดังนี้

  • แผนงานก่อสร้างทั้งหมดในสนาม ซึ่งรวมถึงงานชั่วคราวต่างๆ ด้วย
  • แผนงานยื่นเสนอและขออนุมัติแบบขยายรายละเอียด (Shop Drawings) และแบบก่อสร้าง (Construction Drawings)
  • แผนงานจัดหาและขนส่งวัสดุ รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือหลักในการก่อสร้าง
  • แผนงานการทดสอบวัสดุ
  • แผนงานจัดการจราจรระหว่างก่อสร้าง
  • แผนงานรื้อย้ายและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค
  • แผนงานด้านความปลอดภัย
  • แผนงานด้านการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  •             วิธีการก่อสร้าง

วิธีการก่อสร้างที่ผู้รับจ้างเสนอให้พิจารณานั้นจะต้องอธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนถึงลำดับขั้นตอนในการก่อสร้างของงานแต่ละประเภทรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานวิธีการปฏิบัติงานอัตรากำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานแต่ละขั้นตอนเป็นต้น

  •             องค์กรการทำงาน กำลังคน และเครื่องจักรเครื่องมือ

ผู้รับจ้างต้องเสนอแผนผังองค์กรการทำงาน (Organization Chart) ของบุคลากรหลัก พร้อมทั้งรายละเอียดประวัติและประสบการณ์หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรหลักที่จะเข้าปฏิบัติงานในโครงการ รวมทั้งอัตรากำลังของบุคลากรสนับสนุน และเครื่องจักรเครื่องมือทั้งหมดที่ผู้รับจ้างจะนำมาใช้ในการก่อสร้าง

ทั้งนี้ที่ปรึกษาจะพิจารณาควบคุมดูแลให้การก่อสร้างมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของบุคคลภายในและภายนอกบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโดยให้เป็นไปตามแผนและวิธีการที่ผู้รับจ้างเสนอและได้รับการอนุมัติแล้วหากแผนและวิธีการก่อสร้างและการอำนวยความปลอดภัยของผู้รับจ้างยังไม่เป็นที่น่าพอใจที่ปรึกษาก็จะไม่อนุญาตให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างงานหลักนั้นๆและถือเป็นความรับผิดชอบของที่ปรึกษาหาเกิดอุบัติเหตุขึ้นในพื้นที่ก่อสร้าง

(6)    วางแผนการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง ให้ผู้รับจ้างถือปฏิบัติพร้อมควบคุมผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ โดยให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการจราจร สิ่งแวดล้อม และประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของกรมด้วยหากเกิดอุบัติเหตุในสายทางเนื่องจากความบกพร่องของการจราจรถือเป็นความรับผิดชอบในการควบคุมการก่อสร้างของที่ปรึกษา

       ในการก่อสร้างโครงการนั้นอิทธิพลจากกิจกรรมการก่อสร้างจะก่อให้เกิดการก่อสร้างจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรโดยรอบพื้นที่โครงการการหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบดังกล่าวให้มีน้อยที่สุดสามารถทำได้โดยอาศัยการวางแผนงานการกำหนดวิธีการก่อสร้างที่เหมาะสมควบคู่กับการวางแผนด้านการจัดจราจรไว้ตั้งแต่เริ่มแรกของโครงการซึ่งที่ปรึกษาจะมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูลการให้คำแนะนำการตรวจสอบความเหมาะสมของแนวทางและวิธีการจัดจราจรที่ผู้รับจ้างนำเสนอต่อกรมดังแสดงในรูปที่ 3.3-1และ ตารางที่3.3-1 โดยมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้

  •             การประชาสัมพันธ์ และจัดแผนจราจรกับผู้เกี่ยวข้อง

การประชาสัมพันธ์และจัดแผนจราจรกับผู้เกี่ยวข้อง ถือเป็นมาตรการที่สำคัญอีกมาตรการหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบด้านจราจร ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องเสนอแผนและวิธีการพร้อมรายละเอียดต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์และการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างเพื่อขอความเห็นชอบจากกรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจจราจร องค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นต้น โดยที่ปรึกษาจะคอยช่วยเหลือกรมในการประสานงาน การให้ข้อมูลเพิ่มเติม การจัดประชุมร่วม รวมทั้งการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานตางๆ ที่มีต่อแผนการประชาสัมพันธ์และการจัดการจราจรของผู้รับจ้าง เพื่อนำมาประมวลผลและพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการประชาสัมพันธ์และการจัดการจราจรดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างที่มีพื้นที่การก่อสร้างอยู่ในถนนสายหลักและอยู่ในเขตชุมชนทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการรวมทั้งหรือประชาชนที่จ้องเดินทางสัญจรผ่านพื้นที่โครงการอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากการก่อสร้างอยู่บ้างการบรรเทาผลกระทบด้านจราจรจะต้องใช้การจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างโดยการก่อสร้างทางเบี่ยงที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการรับปริมาณการจราจรได้ไม่น้อยกว่า2 ช่องทางจราจร/ทิศทางรวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆที่มีประสิทธิภาพเช่นหนังสือพิมพ์การทำแผ่นปลิวแผ่นพับการติดตั้งป้ายประกาศฯลฯเพื่อให้สื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องต่างๆได้อย่างทั่วถึง

  •             การใช้เส้นทางเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้าง

การสัญจรโดยใช้เส้นทางเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้างเป็นแนวทางที่สำคัญอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยลดปริมาณจราจรที่จะต้องผ่านพื้นที่ก่อสร้างให้น้อยลงซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการสัญจรผ่านทางและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ายังจุดที่กำลังมีการก่อสร้างอยู่สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางเลี่ยงในการสัญจรได้ที่ปรึกษาจะประสานกับตำรวจจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถในเส้นทางใกล้เคียงสามารถใช้ความเร็วให้มากขึ้นเพื่อระบายการจราจรประกอบกับการใช้ระบบแบ่งช่องจราจรที่ไม่เท่ากันในตอนเช้าและตอนเย็นตามทิศทางการจราจรมากน้อยการห้ามเลี้ยวขวาในบางทางแยกและการจัดการจราจรเดินรถทางเดียวในบางช่วงและบางเวลาซึ่งที่ปรึกษาจะได้ประสานกับตำรวจจราจรหาข้อสรุปต่อไป

ทั้งนี้ในระหว่างการก่อสร้างที่ปรึกษาจะช่วยเหลือกรมในการประสานงานกับผู้รับจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตใช้เส้นทางการปรับปรุงเส้นทางการติดตั้งป้ายและเครื่องหมายจราจรเพิ่มเติมรวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆเพื่อให้สามารถใช้เส้นทางเลี่ยงดังกล่าวข้างต้นให้เกิดประโยชน์ในการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรระหว่างก่อสร้างให้ได้มากที่สุด

  •             แนวทางการจัดจราจรที่ผ่านจุดก่อสร้าง

การจัดการจราจรบริเวณพื้นที่กำลังมีการก่อสร้างเป็นมาตรการที่สำคัญในการช่วยลดผลกระทบด้านการจราจรให้แก่ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องสัญจรผ่านพื้นที่ก่อสร้างนั้นโดยมีเป้าหมายหลักคือการรักษาสภาพการจราจรให้สามารถไหลลื่นไปได้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุดซึ่งในเบื้องต้นนี้ที่ปรึกษาขอเสนอแนะแนวทางในการจัดการจราจรที่ผ่านจุดก่อสร้างให้ผู้รับจ้างนำไปดำเนินการดังนี้

  • วางแผนกำหนดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างที่ต้องปิดกั้นให้เหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการทำงานของผู้รับจ้างและสภาพจราจร เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
  • จัดให้มีการติดตั้งรั้วกั้นบริเวณพื้นที่ก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพงานและสภาพพื้นที่
  • จัดให้มีการติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณจราจรตามรูปแบบและแนวทางการติดตั้งเครื่องหมาย และสัญญาณสำหรับการจัดสร้างซ่อมถนนและงานสาธารณูปโภคของหน่วยราชการ ทั้งในเวลา กลางวันและกลางคืน
  • จัดให้มีทางเบี่ยง หรือการขยายผิวจราจรทดแทนผิวจราจรเดิมที่ต้องสูญเสียไป
  • วางแผนการขนส่งลำเลียงวัสดุก่อสร้าง และเครื่องมือก่อสร้างให้เหมาะสมโดย หลีกเลี่ยงการดำเนินการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
  • ตรวจสอบสภาพยานพาหนะต่างๆ ของผู้รับจ้างที่นำมาใช้ในระหว่างการก่อสร้างให้มีสภาพดี อยู่เสมอ เพื่อป้องกันมิให้ยานพานะเหล่านั้นเกิดชำรุดบกพร่องขณะใช้งานและเกิดการ กีดขวางจราจร
  • ควบคุมดูแลให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะต่างๆ ของผู้รับจ้างที่เข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและถูกต้องตามกฎจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
  • จัดให้มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจราจรไว้คอยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมในขณะที่มียานพาหนะเข้า-ออกจากพื้นที่ก่อสร้าง

ทั้งนี้แผนงานจัดการจราจรดังกล่าวข้างต้นที่ปรึกษาจะควบคุมให้ผู้รับจ้างดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมด้วยและหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นในสายทางเนื่องจากความบกพร่องของการจัดการจราจรจะถือเป็นความรับผิดชอบในการควบคุมการก่อสร้างของที่ปรึกษา

(7)    รายงานข้อปัญหาร้องเรียนต่างๆ ที่อาจมีขึ้นเนื่องจากการก่อสร้างให้เจ้าหน้าที่ของกรมได้รับทราบ พร้อมข้อเสนอแนะ และ/หรือ ผลในการแก้ไขปัญหาจนเป็นที่พึงพอใจของผู้ร้องเรียน

       ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างของโครงการซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างและอาจมีการร้องเรียนปัญหาต่างๆมาถึงโครงการหรือมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆก็ได้ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้ข้อร้องเรียนดังกล่าวถูกละเลยเพิกเฉยจนทำให้ผู้ร้องเรียนไม่พอใจและเกิดการต่อต้านจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการที่ปรึกษาจะทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลงานก่อสร้างให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดรวมทั้งช่วยรายงานข้อปัญหาร้องเรียนต่างๆที่อาจมีขึ้นให้เจ้าหน้าที่ของกรมได้รับทราบโดยเร็วพร้อมกับเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาหรือตอบสนองข้อร้องเรียนต่างๆจนเป็นที่พอใจของผู้ร้องเรียนโดยในเบื้องต้นนี้ที่ปรึกษาเห็นว่าควรมีการเปิดช่องทางในการสื่อสารระหว่างโครงการกับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆไว้ตลอดเวลาในระหว่างการดำเนินโครงการรวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ไว้คอยรับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้โดยเฉพาะเพื่อให้การรับทราบข้อร้องเรียนเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามรถตอบสนองหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันทีโดยช่องทางในการสื่อสารดังกล่าวได้แก่ตู้รับความคิดเห็น/ข้อร้องเรียนประจำโครงการโทรศัพท์โทรสารรวมถึงการสื่อสารผ่านทางWebsite ของโครงการเป็นต้น

(8)    ตรวจสอบข้อขัดแย้งระหว่างแบบก่อสร้าง คุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้าง และเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาโดยรายงานให้กรมทราบภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่กรมแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน และเสนอแนะวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างแบบก่อสร้างโดยเร็วเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับงานก่อสร้าง

       เมื่อที่ปรึกษาได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการนี้แล้วที่ปรึกษาจะดำเนินการตรวจสอบแบบก่อสร้างคุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้างรวมถึงเอกสารประกวดราคาและเอกสารอื่นๆที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบส่งกรมภายใน60 วันหากผลการตรวจสอบพบว่ามีความจำเป็นจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนการก่อสร้างแบบก่อสร้างข้อกำหนดหรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่แตกต่างจากข้อกำหนดเดิมของสัญญาที่ปรึกษาจะทำการศึกษาถึงความจำเป็นผลกระทบและข้อดีข้อเสียการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวพร้อมทั้งเสนอคำแนะนำให้กรมพิจารณาอนุมัติทั้งนี้โดยยึดถือผลประโยชน์ของกรมเป็นหลักหากกรมยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่ปรึกษาจะช่วยเหลือกรมในการเจรจาต่อรองราคากับผู้รับจ้างและเงื่อนไขต่างๆต่อไป

       ทั้งนี้ที่ปรึกษามีความพร้อมด้านบุคลากรและความรู้ความเข้าใจในแบบข้อกำหนดหรือวัสดุเป็นอย่างดีอยู่แล้วจึงสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงแบบและวัสดุจะต้องมีการดำเนินการที่รัดกุมและมีเอกสารประกอบในทุกั้นตอนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้สำหรับทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องขั้นตอนการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง

(9)    ตรวจสอบความถูกต้องของแนวทาง และค่าระดับของงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้

       การตรวจสอบความถูกต้องของแนวทางและค่าระดับของโครงการจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแบบและสภาพจริงในสนามเป็นสำคัญทางงานสำรวจตรวจสอบแล้วพบว่าแนวของถนนเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ในแบบก่อสร้างที่ปรึกษาจะให้ข้อแนะนำในการปรับแนวให้ถูกต้องเหมาะสมและตรวจสอบการออกแบบของผู้รับจ้างให้ถูกต้องตามมาตรฐานและหลักวิชาการนอกจากนี้เนื่องจากยังมีสาธารณูปโภคอยู่ตามแนวถนนเดิมอยู่พอสมควรดังนั้นในการทบทวนแนวโครงการที่ปรึกษาจะต้องคำนึงถึงตำแหน่งและระดับของสาธารณูปโภคเดิมด้วยทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบแนวโครงการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบสาธารณูปโภคที่อาจต้องปรับเปลี่ยนโดยจะต้องร่วมกับผู้รับจ้างในการประสานงานหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างตรวจสอบและอนุมัติแบบขยายรายละเอียดทั้งแนวราบและแนวดิ่งเพื่อตรวจสอบค่าระดับหมุดหลักฐาน (BM) ค่าระดับงานก่อสร้างและแนวก่อสร้างเปรียบเทียบระหว่างแบบกับสถานที่ก่อสร้างโดยรายงานให้กรมทราบภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่กรมแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานในรูปแบบและวิธีการที่กรมกำหนดและควบคุมดูแลให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบขยายรายละเอียดนั้นๆโดยที่ปรึกษามีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้

  •             การตรวจสอบข้อมูลเพื่อการก่อสร้างด้านมิติและระยะ (Setting Out Data for Construction)

            ก่อนเริ่มการก่อสร้างทุกครั้งที่ปรึกษาจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของแบบที่จะนำมาก่อสร้างอีกครั้งเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นที่มั่นใจซึ่งความไม่สมบูรณ์ส่วนมากเกิดจากการระบุตัวเลขในแบบหากมิได้ตรวจสอบจะไม่สามรถทราบได้ถึงข้อผิดพลาดนั้นและไม่สามารถแก้ไขได้ทันอาจส่งผลให้มีการดำเนินการในส่วนนั้นจนแล้วเสร็จและพบข้อผิดพลาดในภายหลังทำให้เกิดความสูญเสียทังเวลาค่าใช้จ่ายและที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าของโครงการสิ่งต่างๆนี้สามารถที่จะป้องกันได้โดยมีหลักการพิจารณาแบ่งเป็น 3 ส่วนและใช้ระบบการคำนวณพร้อมประมวลผลในคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วมีความละเอียดและความถูกต้องสูงมากรวมถึงสามารถจัดสร้างโปรแกรมเพื่อตรวจสอบผลการคำนวณย้อนกลับได้ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นจะดำเนินการประสานงานกับผู้ออกแบบและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ทราบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องงานตรวจสอบในส่วนนี้ประกอบด้วย

  • ส่วนที่ 1 – การตรวจสอบแบบ จัดทำข้อมูลและประมวลผลของข้อมูลหลัก

การตรวจสอบในส่วนนี้เป็นการตรวจสอบที่สามารถเรียกว่า การตรวจสอบเพื่อควบคุมเชิงเรขาคณิตของโครงการ (Project Geometry Control Inspection) เป็นการตรวจสอบโดยนำแบบแสดงแนวควบคุมหลักของโครงการ (Project Control Line Drawing) แบบแสดงแนวการเปลี่ยนแปลงรับของโครงการ (Project Plan & Profile Drawing) และแบบแสดงการเปลี่ยนแปลงค่าความลาดเอียงของผิดทาง (Project Cross Fall Drawing) มาดำเนินการคำนวณพร้อมประมวลผล และนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลหลักที่ปรากฏในแบบให้ถูกต้องตรงกันก่อนนำข้อมูลหลักเหล่านี้ไปใช้เป็นฐานในการคำนวณข้อมูลโดยละเอียดในแต่ละขั้นตอนของการก่อสร้าง โครงสร้างงานในลำดับต่อไป

  • ส่วนที่ 2 – การตรวจสอบรูปแบบการก่อสร้างค่าปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อข้อมูลเพื่อการก่อสร้าง

การตรวจสอบงานในส่วนนี้เป็นการศึกษารูปแบบการก่อสร้างแบบหล่อชิ้นงานการติดตั้งนั่งร้านการติดตั้งอุปกรณ์ค้ำยันการก่อสร้างงานโครงสร้างชั่วคราวเพื่ออำนวยความสะดวกค่าปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อข้อมูลเพื่อการก่อสร้างอาทิเช่นผลกระทบจากอุณหภูมิทิศทางและความเร็วของกระแสลมการยืด-หดตัวของโครงสร้างการหล้าของโครงสร้างการโก่งของโครงสร้างการถ่วงน้ำหนักเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการก่อสร้างการทรุดตัวของนั่งร้านฯลฯข้อมูลดังกล่าวจะใช้ประกอบการกำหนดข้อมูลเพื่อใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานที่ถูกต้องสอดคล้องกับแบบที่ระบุไว้เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์

  • ส่วนที่ 3 – การตรวจสอบข้อมูลเพื่อใช้ในการก่อสร้าง

การตรวจสอบงานในส่วนนี้จะเป็นการนำข้อมูลจากส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นรวมกับแบบก่อสร้างโครงการทั้งหมด นำมาวิเคราะห์และคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ใช้ในการก่อสร้างจริงของงานแต่ละส่วนของโครงการ ประกอบด้วย

  • งานถนนระดับดิน
  • งานทางยกระดับ/และทางแยกต่างระดับ
  • งานภูมิสถาปัตยกรรม
  • งานระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

ที่ปรึกษาจะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และคำนวณให้อยู่ในรูปแบบค่าตัวเลขต่างๆเช่นค่าพิกัดค่าระดับระยะกว้างยาวสูงมุมเป็นต้นในหลายๆกรณีข้อมูลเพื่อการก่อสร้างนี้ต้องนำข้อมูลระยะต่างๆในแบบมาแปลงเป็นข้อมูลในระบบพิกัดและค่าความสูงจึงจะสามารถก่อสร้างได้จริงดังนั้นงานส่วนข้อมูลนี้ต้องมีความสมบูรณ์ 100%

ในระบบการตรวจสอบนี้ ภายหลังการพิจารณาหลักการจัดทำเอกสารแล้วผู้รับจ้างต้องจัดทำเอกสารแสดงแนวคิด แบบอ้างอิง และรายละเอียดการคำนวณข้อมูลเสนอต่อที่ปรึกษา โดยที่ปรึกษาจะจัดทำข้อมูลขึ้นเองโดยอิสระเพื่อใช้ตรวจเปรียบเทียบ ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวนี้จะมีความสมบูรณ์และสามารถมั่นใจได้ว่าการก่อสร้างโครงการจะตรงตามรูปแบบทุกประการ

  •             การตรวจสอบเพื่อควบคุมการก่อสร้างด้านมิติและระยะ (Geometry Control or Construction Survey)

การตรวจสอบงานในส่วนนี้จะเป็นการนำผลงานการตรวจสอบงานสำรวจเพื่อกำหนดจุดควบคุมหลักทางแนวราบ (Traverse : Horizontal Control Monument) และจุดควบคุมหลักทางแนวดิ่ง (Leveling : Vertical Control Monument or Bench Mark) ผนวกรวมกับผลงานการตรวจสอบข้อมูลเพื่อการก่อสร้างด้านมิติและระยะ (Setting Out Data for Construction) นำไปใช้ในการตรวจสอบค่าการก่อสร้างจริงในสนามในลักษณะกำหนดค่าข้อมูลก่อนการก่อสร้างตรวจสอบผลงานเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในแต่ละส่วนงานและประเมินผลค่าความคลาดเคลื่อนของงานในแต่ละส่วนหากค่าความคลาดเคลื่อนเกิดกว่าที่ยอมรับได้ตามข้อกำหนดในมาตรฐานการก่อสร้างจะมีการปรับปรุงแก้ไขโดยทันทีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะความคลาดเคลื่อนสะสม

การตรวจสอบเพื่อควบคุมการก่อสร้างด้านมิติและระยะ (Geometry Control or Construction Survey) นี้จะทำการตรวจสอบโดยบุคลากรของที่ปรึกษาและใช้อุปกรณ์เครื่องมืองานสำรวจของที่ปรึกษาเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ของผู้รับจ้างเพื่อป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากอุปกรณ์เครื่องมือผลการตรวจสอบจะต้องมีการจัดทำบันทึกไว้โดยละเอียดตามหลักวิชาการสำรวจและใช้เป็นเอกสารอ้างอิงกรณีเกิดปัญหาหรือข้อสงสัยต่อไปในส่วนรายละเอียดของการตรวจสอบที่ปรึกษาจะดำเนินการตรวจสอบงานด้านความถูกต้องของมิติระยะแนวและรูปแบบของงานก่อสร้างของโครงการซึ่งจะประกอบด้วย

  • สภาพปัจจุบันและสภาพที่ต้องปรับปรุงให้ตรงตามรูปแบบของโครงการ
  • แนวเขตทาง/อุปสรรค-สิ่งกีดขวาง
  • แนวถนน ความกว้างถนน ระดับของชั้นทาง และรูปแบบของถนนระดับชั้นดิน
  • รูปแบบทางเท้า เกาะกลาง ที่กลับรถ
  • ตำแหน่งการตอกเสาเข็ม ตอม่อสะพาน กำแพงกันดิน
  • ตำแหน่ง ระยะ และรูปแบบของเสาสะพาน รวมถึงโครงสร้างส่วนบนทั้งหมด
  • ตำแหน่ง ระดับความลึก และรูปแบบของงานระบบระบายน้ำต่างๆ
  • ตำแหน่ง รูปแบบของงานระบบไฟฟ้าต่างๆ
  • งานอื่นที่เกี่ยวข้องของโครงการ

(10)  ตรวจสอบใบแจ้งปริมาณงานและราคา (ประเมินราคาแล้ว) เปรียบเทียบกับรูปแบบและพื้นที่ก่อสร้าง โดยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กรมได้แจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน

       ที่ปรึกษาจะดำเนินการตรวจสอบใบแจ้งปริมาณงานและราคา (ประเมินราคาแล้ว) ของผู้รับจ้างเปรียบเทียบกับรูปแบบและพื้นที่การก่อสร้างโดยให้แล้วเสร็จภายใน60 วันนับแต่วันที่กรมได้แจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานโดยวิศวกรโครงการจะเป็นผู้ทำการตรวจสอบและจะได้นำผลที่ได้จากการรายงานผลการตรวจสอบมาประกอบในการพิจารณาตรวจสอบให้สอดคล้องด้วย

       โดยทั่วไปรายการก่อสร้างที่มักประสบปัญหาปริมาณงานจริงกับปริมาณงานจากการถอดปริมาณจากแบบแตกต่างกันมากจนอาจทำให้วงเงินก่อสร้างไม่เพียงพอต้องมีการคิดเงินลดเงินเพิ่ม (Overrun Underrun) คืองานดินตัดดินถมทั้งนี้เนื่องจากในการออกแบบรายละเอียดจะเป็นข้อมูลที่ได้จากการเก็บค่าระดับทุก 25 เมตรแล้วนำมาGenerate เป็นเส้นชั้นระดับความสูง (Contour) เพื่อนำมาหาปริมาณงานดินตัดดินถมซึ่งหากโครงการอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเนินเขาที่มีระดับไม่สม่ำเสมอเป็นหลุมเป็นบ่ออาจได้ปริมาณที่แตกต่างจากความเป็นจริงมากจึงควรมีการตรวจสอบค่าระดับณตำแหน่งที่จะก่อสร้างเพื่อหาปริมาณงานดินดัด-ดินถมที่มีค่าใกล้เคียงความเป็นจริงให้มากที่สุดเพื่อนำมาตรวจสอบวงเงินค่ากอสร้างโครงการว่าเปลี่ยนแปลงจากวงเงินก่อสร้างตามสัญญามากน้อยแค่ไหนนอกเหนือจากการตรวจสอบปริมาณงานตามผลงานของผู้รับจ้างในแต่ละเดือนแล้วที่ปรึกษาจะติดตามตรวจสอบปริมาณงานในทุกๆ 6 เดือนหรือตามที่ผู้รับจ้างขอเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ให้มากที่สุดและหากมีการเปลี่ยนแปลงจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดปัญหาลุกลามจนมีผลต่อราคาค่างานก่อสร้าง

(11)  ให้วิศวกรหลักทุกตำแหน่งของที่ปรึกษา ยกเว้นผู้จัดการโครงการและวิศวกรประจำโครงการตรวจสอบทบทวนแบบก่อสร้างและข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุในสัญญาในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง โดยแจ้งกรมถึงผลการตรวจสอบ พร้อมเสนอแนะสิ่งที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นแบบ วัสดุ หรือรายการ ซึ่งแตกต่างจากข้อตกลงเดิม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของโครงการและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กรมได้แจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ในงานตรวจสอบและการแก้เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมดังกล่าว จะต้องแสดงรายการคำนวณตามหลักวิชาการทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมให้ถูกต้อง

โดยก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างใดๆที่ปรึกษาจะทำตรวจสอบทบทวนแบบก่อสร้างและข้อกำหนดต่างๆที่ระบุในสัญญาทั้งนี้เพื่อให้ได้รูปแบบและคุณภาพของงานก่อสร้างทุกรายการถูกต้องตามที่ระบุในเอกสารสัญญาในการนี้ที่ปรึกษาจะมอบหมายให้บุคลากรหลักทุกตำแหน่งของที่ปรึกษายกเว้นผู้จัดการโครงการและวิศวกรประจำโครงการทำหน้าที่ตรวจสอบทบทวนแบบก่อสร้างและข้อกำหนดต่างๆที่ระบุในสัญญาในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องโดยแจ้งกรมถึงผลการตรวจสอบพร้อมเสนอแนะสิ่งที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นแบบวัสดุหรือรายการซึ่งแตกต่างจากข้อตกลงเดิมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของโครงการและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ที่ปรึกษายังได้จัดให้มีบุคลากรสนับสนุนคอวิศวกรโยธาและช่างเทคนิค/ช่างสำรวจในการพิจารณาทบทวนตรวจสอบหมุดหลักฐานแบบงานทางงานระบายน้ำงานตรวจสอบความสอดคล้องของแบบในส่วนต่างๆและความสอดคล้องของแบบกับเอกสารประกอบอื่นๆรวมถึงการทบทวนบัญชีปริมาณงานและวัสดุเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบเนื้องานที่ผู้รับจ้างเสนอต่อกรมโดยวิศวกรโครงการจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากคณะทำงานเพื่อจัดทำเป็นรายงานผลการตรวจสอบซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยรายละเอียดและข้อขัดแย้งที่จำเป็นต้องแก้ไขแล้วที่ปรึกษาจะได้เสนอแนะแนวทางและวิธีการแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโครงการจัดส่งให้กรมภายใน90 วันนับแต่วันที่กรมแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน

(12) ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบแบบขยายรายละเอียด (Shop Drawings) เอกสาร และวัสดุตัวอย่างที่จะใช้ในการก่อสร้างที่เสนอโดยผู้รับจ้างก่อนเริ่มการก่อสร้างรายการนั้นๆ

ที่ปรึกษาจะดำเนินการตรวจสอบและให้ความเห็นต่อแบบขยายรายละเอียดที่ใช้ในการก่อสร้างจริงรวมถึงเอกสารประกอบวัสดุตัวอย่างที่จะใช้ในการก่อสร้างซึ่งผู้รับจ้างเสนอต่อกรมก่อนเริ่มการก่อสร้างรายการนั้นๆโดยที่ปรึกษาจะได้เสนอหลักเกณฑ์การจัดส่งเอกสารเพื่อให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมที่ปรึกษาและผู้รับจ้างนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องและเข้าใจตรงกันทั้งเรื่องการไหลเวียนของเอกสารและจำนวนสำเนาที่ต้องใช้ในการนำเสนอนอกจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัดในการกำหนดเวลาของการนำเสนอและการให้ความเห็นชอบเพื่อมิให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ที่ปรึกษาจะตรวจสอบรายการคำนวณของผู้รับจ้างให้แสดงค่าระดับการแอ่นตัว (Deflection) ของโครงสร้างในระหว่างการติดตั้งทุกขั้นตอนทั้งนี้เพื่อควบคุมให้ค่าระดับต่างๆเป็นไปตามรูปแบบและหากจำเป็นที่ปรึกษาจะแจ้งกรมเพื่อสั่งการให้ผู้รับจ้างปรับค่าระดับเพื่อควบคุมการแอ่นตัวของโครงสร้างให้ได้ตามความต้องการที่ได้ออกแบบไว้ซึ่งที่ปรึกษาจะพิจารณาตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนโดยจะเสริมการพิจารณาหลักของความปลอดภัยในระหว่างการทำงานเข้าไปด้วยเพื่อให้ผู้รับจ้างนำไปปฏิบัติต่อไปขั้นตอนการอนุมัติแบบขยายรายละเอียด (Shop Drawing)

(13)  ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างให้มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในแบบ และคุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้าง หากพบวัสดุใดที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ผ่านการทดสอบ ให้สั่งการให้ผู้รับจ้างนำวัสดุนั้นออกไปให้พ้นบริเวณก่อสร้าง ทั้งนี้ให้เก็บรวบรวมผลทดสอบไว้เพื่อสามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา และจัดทำแบบรายงานตามแบบฟอร์ม ทส.1 –ทส.5 นอกจากนี้ต้องควบคุมการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างที่จะนำวัสดุดังกล่าวไปประกอบหรือติดตั้งให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้

การทดสอบวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆที่นำมาใช้ภายในโครงการเป็นการทดสอบและตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้ได้วัสดุที่มีคุณภาพตามมาตรฐานหรือตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ในแบบก่อสร้างหรือในรายการประกอบแบบวัสดุประเภทที่นำมาใช้งานไม่ว่าจะเป็นหินดินทรายปูนซีเมนต์เหล็กเสริมคอนกรีตหรือน้ำที่จะนำมาใช้ในการผสมคอนกรีตและสำหรับกิจกรรมต่างๆในการก่อสร้างจะต้องผ่านการทดสอบและตรวจสอบคุณภาพก่อนการนำไปใช้งานทุกครั้งโดยการทดสอบคุณภาพวัสดุจะทำการทดสอบทั้งในสนามและในห้องทดลองสนามของโครงการหรือในกรณีที่ห้องทดลองสนามของโครงการไม่สามารถทำการทดสอบวัสดุที่จำเป็นในบางประเภทได้เช่นการทดสอบหากำลังรับแรงดึงของเหล็กเสริมคอนกรีตที่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบซึ่งไม่มีในห้องทดลองสนามจะต้องดำเนินการให้มีการนำวัสดุดังกล่าวไปทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการภายนอกโครงการที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปเพื่อให้ได้ผลการทดสอบอันเป็นเอกสารรับรองยืนยันจากห้องปฏิบัติการภายนอกโครงการซึ่งมีบุคลากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการทดสอบวัสดุเป็นผู้รับรองผล

ในส่วนของการทดสอบวัสดุที่สามารถดำเนินการได้เองภายในโครงการทั้งการทดสอบในสนามและการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ปรึกษาจะใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ที่จะช่วยเลือกสนับสนุนในการดำเนินการทั้งในด้านการตรวจสอบและวิธีการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบต่างๆเป็นอย่างดีสามารถดำเนินการให้การทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากลไม่ว่าจะเป็นการทดสอบในเรื่องที่เกี่ยวกับวัสดุ (Soil Test) วัสดุมวลรวม (Aggregate Test) หรือคอนกรีต (Concrete Test) ซึ่งอุปกรณ์มาตรฐานที่มีภายในห้องทดลองของโครงการสามารถรองรับการทดสอบวัสดุทั้ง3 ประเภทเพื่อควบคุมคุณภาพของการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างได้โดยการตรวจสอบทดสอบวัสดุและตรวจสอบความประณีตของงานมีหลักการดังนี้

วิธีการและขั้นตอนการตรวจสอบและทดสอบต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในเอกสารก่อสร้างโครงการ หรือเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ยอมรับได้

  • จำนวนตัวอย่างและคุณสมบัติวัสดุที่นำมาใช้ในการทดสอบ รวมทั้งเวลาและความถี่ในการทดสอบวัสดุแต่ละชนิดให้สอดคล้องตามข้อกำหนดการก่อสร้างของโครงการ และจะต้องเหมาะสมเพียงพอเพื่อให้ครอบคลุมและสะท้อนถึงการเป็นตัวแทนวัสดุของทั้งโครงการ
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบและทดสอบต้องพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม โดยไม่ทำให้งานก่อสร้างต้องล่าช้า ควรมีการวางแผนให้รอบคอบและมีเวลาเผื่อไว้สำหรับกรณีที่เป็นวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าม่านการทดสอบจะต้องใช้เวลาในการผลิตและขนส่งเข้ามาใหม่ด้วย

สำหรับงานตรวจสอบวัสดุที่จะนำมาใช้ในงานก่อสร้างจะเป็นการควบคุมการทดสอบวัสดุจะครอบคลุมไปถึงการควบคุมคุณภาพของวัสดุทั้งก่อนและหลังการก่อสร้างให้ได้มาตรฐานตามที่ได้กำหนดไว้เช่นการควบคุมคุณภาพของทรายถมทรายที่นำมาใช้จะต้องได้คุณภาพตามที่กำหนดไม่เป็นทรายสกปรกที่มีเศษดินหรือเศษพืชปะปนอยู่จนเกินมาตรฐานและภายหลังจากการถมก็จะต้องทำการบดอัดให้ได้ความแน่นตามมาตรฐานหรือตามข้อกำหนดของงานหรือในงานคอนกรีต

การตรวจสอบวัสดุจะเริ่มตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพของวัสดุก่อนที่จะนำมาผสมเป็นคอนกรีตและยังทำการเก็บตัวอย่างคอนกรีตที่ได้จากการผสมเพื่อใช้งานจริงนำมาทดสอบหาความแข็งแรงเพื่อควบคุมคุณภาพทั้งก่อนและหลังการดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ต่างๆที่ได้มีการกำหนดไว้

สำหรับการนำเสนอวัสดุพิเศษเพื่อใช้ในโครงการผู้รับจ้างก่อสร้างควรนำส่งกำหนดการนำเสนอวัสดุพิเศษนั้นต่อกรมเพื่อพิจารณาระยะเวลาการสั่งของและการผลิตที่เหมาะสมของผู้รับจ้างก่อสร้างยกตัวอย่างเช่นExpansion Joint เนื่องจากวัสดุดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการผลิตหรือต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งในการสั่งซื้อและการผลิตการนำส่งวัสดุล่าช้าไม่สอดคล้องกับงานก่อสร้างจริงในสนามอาจทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลเสียหายต่อโครงการโดยตรงหรือในบางกรณีวัสดุดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติหรือการทดสอบก็จะทำให้เกิดความล่าช้ามาขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ที่ปรึกษาจะเก็บรวบรวมผลทดสอบไว้เพื่อให้กรมสามารถตรวจสอบได้ทุกเวลาและจะจัดทำแบบรายงานตามแบบฟอร์ม ทส.1 – ทส. 5 ตามที่กรมกำหนดด้วย

นอกจากการควบคุมวัสดุที่จะใช้ก่อสร้างให้มีมาตรบานตามที่กำหนดแล้วจะต้องมีการควบคุมการปฏิบัติงานผู้รับจ้างก่อสร้างจะนำวัสดุดังกล่าวไปประกอบหรือติดตั้งให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้เช่นการตรวจสอบความแข็งแรงของไม้แบบความถูกต้องของเหล็กเสริมการผสมคอนกรีตและการทดสอบกำลังรับน้ำหนักของคอนกรีตการทดสอบความแน่นจากการบดอัดของงานดินงานถนนหากว่าการตรวจสอบพบข้อชำรุดบกพร่องหรือความผิดพลาดในงานส่วนใดๆก็ตามจะต้องแจ้งให้ผู้รับจ้างก่อสร้างทราบทันทีเพื่อแก้ไขข้อชำรุดบกพร่องหรือความผิดพลาดนั้นโดยไม่ชักช้า

(14)  ตรวจสอบรูปแบบของงานที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างจริงเปรียบเทียบกับรูปแบบตามแบบสัญญาจ้าง ตามแบบฟอร์ม คส.1 –คส.10 และรวมถึงแบบฟอร์มที่ที่ปรึกษาจะต้องจัดทำเพิ่มเติมตามเนื้องานที่มีอยู่จริงก่อนการตรวจรับงานของผู้รับจ้างแต่ละงวด

ในระหว่างการควบคุมงานก่อสร้างของโครงการก่อนการตรวจรับงานของผู้รับจ้างแต่ละงวดซึ่งโดยปกติจะมีการตรวจรับงานเดือนละ 1 ครั้งนั้นที่ปรึกษาจะทำการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลที่ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างตามรูปแบบและข้อกำหนดตามแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ว่าจ้างที่กำหนดให้ใช้เอกสารประกอบการตรวจการจ้าง คส.1 – คส.10 และนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างเพื่อคณะกรรมการฯจะใช้ข้อมูลตามเอกสารดังกล่าวในการสุ่มตรวจสอบการก่อสร้างโครงการเพื่อให้ได้รูปแบบและข้อกำหนดตามมาตรฐานที่กรมกำหนดไว้รวมถึงแบบฟอร์มอื่นๆที่ที่ปรึกษาจะจัดทำเพิ่มเติมขึ้นมาตามเนื้องานที่มีอยู่จริงของโครงการโดยจะจัดเตรียมข้อมูลและรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วนเพื่อให้กรมใช้ประกอบการพิจารณาตรวจรับงานของผู้รับจ้างในแต่ละงวดงาน

(15)  ให้คำแนะนำในการแก้ไขงานที่ได้ดำเนินการไปแล้วแต่มีความบกพร่องเสียหาย หรือไม่เรียบร้อยแก่ ผู้รับจ้างเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพที่ดี ถูกต้องตรงตามแบบก่อสร้างคุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดทางเทคนิค และเอกสารประกอบต่างๆ ที่มีเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา

       ที่ปรึกษาจะดำเนินการตรวจสอบผลการดำเนินงานของผู้รับจ้างเพื่อให้งานก่อสร้างเป็นไปตามขั้นตอนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อการก่อสร้างอย่างไรก็ตามหากเกิดข้อบกพร่องหรือเสียหายกับงานก่อสร้างไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆก็ตามที่ปรึกษาจะทำการศึกษาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายและผลที่จะเกิดกับโครงสร้างอย่างละเอียดถี่ถ้วนสรุปผลพร้อมแนวทางแก้ไขให้ได้ผลงานที่สอดคล้องตรงตามรูปแบบ (Drawing) ข้อกำหนดทางเทคนิค (Technical Specification) เดิมให้มากที่สุดแล้วนำเสนอให้กรมทราบเพื่อกรมจะได้พิจารณาและแจ้งให้ผู้รับจ้างก่อสร้างไปดำเนินการแก้ไขต่อไปโดยอาจแบ่งลักษณะของความไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามความต้องการทางด้านเทคนิคออกเป็น2 กลุ่มดังนี้

  • ความไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามความต้องการทางด้านเทคนิคอันเนื่องมาจากวัสดุ เช่น เสื่อมคุณภาพ ไม่เป็นไปตามที่ที่ปรึกษาให้ความเห็นชอบ เป็นต้น กรณีเช่นนี้จะต้องมีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพนั้น และห้ามมิให้นำวัสดุดังกล่าวนำมาใช้ในการก่อสร้างอีกต่อไป
  • ความไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามความต้องการทางด้านเทคนิคอันเนื่องมาจากฝีมือช่างหรือวิธีการก่อสร้าง ซึ่งผู้รับจ้างต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องของผลงานที่ได้ทำมาแล้ว พร้อมทั้งปรับปรุงฝีมือช่างและวิธีการทำงานให้เหมาะสม

การดำเนินการดังกล่าวนั้นในบางครั้งจำเป็นต้องใช้ข้อกำหนดด้านเทคนิคสำหรับการแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความบกพร่องเสียหายต่อโครงสร้างหลักซึ่งส่วนมากแล้วผู้ออกแบบจะออกแบบองค์อาคารให้มีความสามารถในการรับแรงสูงกว่าค่าที่ต้องการตามข้อกำหนดการออกแบบบางส่วนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ที่ปรึกษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบนั้นอย่างถูกต้องและลึกซึ้งเพื่อที่จะสามารถพิจารณาโดยรอบคอบว่าการแก้ไขดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับข้อกำหนดการออกแบบหรือไม่ในบางครั้งการแก้ไขอาจได้งานซึ่งมีความแข็งแรงเป็นไปตามข้อกำหนดการออกแบบแต่ไม่เทียบเท่ากับรูปแบบที่กำหนดไว้ในแบบก่อสร้างที่ปรึกษาจะทำการเปรียบเทียบว่ามีความเป็นไปได้ในการรื้อออกแล้วทำใหม่หรือไม่เพราะในบางกรณีถึงได้ทำการรื้อออกและทำใหม่แล้วโครงสร้างบางจุดก็ยังไม่มีความแข็งแรงเท่ากับที่กำหนดไว้ในแบบอยู่ดีซึ่งในบางกรณีนั้นความแข็งแรงที่เป็นไปตามข้อกำหนดก็อยู่ในขอบเขตที่สามารถยอมรับได้ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบของที่ปรึกษาที่เป็นผู้ออกแบบรายละเอียดของโครงการนี้จึงมีความมั่นใจว่าสามารถตรวจสอบและให้คำแนะนำแนวทางการแก้ไขได้อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของการออกแบบ

(16)  ตรวจสอบและรายงานผลงานความก้าวหน้าของการทำงานของผู้รับจ้างเป็นระยะๆ และคำนวณปริมาณงานจริงที่ผู้รับจ้างทำได้ในแต่ละเดือน เพื่อตรวจสอบการเบิกเงินของผู้รับจ้างและเปรียบเทียบกับแผนการใช้จ่ายเงินของกรม

ที่ปรึกษาจะติดตามตรวจสอบบันทึกผลงานการทำงานและความก้าวหน้าการก่อสร้างของผู้รับจ้างก่อสร้างทุกวันโดยติดตามผลงานจากการก่อสร้างแต่ละรายการตามแผนงานการก่อสร้างที่ได้วางแผนและอนุมัติไปแล้วทำการสรุปทั้งปริมาณงานและความก้าวหน้าของงานเป็นรายเดือนเพื่อรายงานให้กรมทราบจากข้อมูลความก้าวหน้าของงานเมื่อพบว่าผู้รับจ้างก่อสร้างทำงานได้ล่าช้าแผนงานถึงจุดที่คาดว่าจะให้โครงการเสียหายได้ที่ปรึกษาก็จะแจ้งให้กรมทราบเพื่อเป็นข้อมูลให้กรมในการแจ้งเตือนผู้รับจ้างพร้อมแนะนำช่วยเหลือผู้รับจ้างทุกวิถีทางทางในการเร่งรัดงานก่อสร้าง

จากการติดตามตรวจสอบบันทึกผลงานทุกวันที่ปรึกษาจะใช้ข้อมูลการบันทึกต่างๆเพื่อตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของค่างานก่อสร้างทู้รับจ้างเสนอเบิกจ่ายมาก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างของกรมเพื่อตรวจรับงานในแต่ละเดือนโดยจะเปรียบเทียบกับแผนการใช้จ่ายเงินของกรมและในงวดสุดท้ายที่ปรึกษาจะทำการตรวจสอบค่างานก่อสร้างทั้งหมดของโครงการโดยตรวจสอบเงินลดเงินเพิ่มเนื่องจากการเพิ่มลดของปริมาณงานจริงที่ได้ก่อสร้างไป (Overrun of Underrun) ซึ่งที่ปรึกษาจะใช้ระบบจัดเก็บและคำนวณข้อมูลคำนวณผลงานและการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวข้างต้นด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโปรแกรมการทำงานที่เหมาะสมและทันสมัยเพื่อให้การตรวจสอบปริมาณงานและจำนวนเงินที่ผู้รับจ้างขอเบิกจ่ายเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

(17)  เก็บรวบรวมรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง โดยระบุรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงานและวัสดุที่ใช้ตลอดจนสภาพดินฟ้าอากาศในสถานที่ก่อสร้างของแต่ละวัน รวมถึงผลการปฏิบัติงานหรือการหยุดงาน พร้อมสาเหตุที่มีการหยุดงานไว้ในสถานที่ทำงาน พร้อมทั้งสรุปการทำงานในแต่ละสัปดาห์เพื่อกรมจะตรวจสอบได้ทุกเวลา

ที่ปรึกษาจะเก็บรวบรวมบันทึกและรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างรวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นตลอดจนสภาพดินฟ้าอากาศในสถานที่ก่อสร้างแต่ละวันไว้หลังจากนั้นที่ปรึกษาจะได้สรุปรวบรวมรายงานต่างๆเหล่านี้ไว้เป็นรายสัปดาห์และจัดเก็บไว้ในสำนักงานสนามด้วยระบบควบคุมเอกสารและบรรจุเข้าในฐานข้อมูลทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วต่อกรมในการติดตามตรวจสอบได้ทุกเวลาข้อมูลเหล่านี้จะได้นำมาใช้พิจารณาถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้รับจ้างสาเหตุความล่าช้าและอุปสรรคในการดำเนินงานซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายรวมทั้งพิจารณาการเรียกร้องและ/หรือการขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างอย่างสมเหตุสมผลในอนาคต

งานเก็บรวบรวมรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและบันทึกข้อมูลสภาพดินฟ้าอากาศในสถานที่ก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานควบคุมคุณภาพและระบบประกันคุณภาพของโครงการรูปแบบของรายงานและการบันทึกข้อมูลจะเป็นรูปแบบ/แบบฟอร์มที่ผู้รับจ้างและที่ปรึกษาเห็นชอบร่วมกันข้อมูลในรายงานและแบบฟอร์มนี้จะเป็นประโยชน์ให้การติดตามความหน้าของงานในแต่ละวัน

นอกจากนี้จะเป็นข้อมูลที่ทำให้ทราบถึงเหตุการณ์สิ่งผิดปกติหรืออุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นวันต่อวันหากที่ปรึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุการณ์หรืออุปกรณ์หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการในอนาคตที่ปรึกษาก็สามารถพิจารณาหาทางแก้ไขได้ทันท่วงทีพร้อมทั้งรายงานตามขั้นตอนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบโดยเร็วทั้งนี้ที่ปรึกษาจะพัฒนาระบบการรายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างผ่านระบบe-report โดยให้สามารถรายงานผลค้นหาหรือตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้จากWebsite ผ่านระบบSecurity

นอกจากนี้หากเป็นกรณีฉุกเฉินเช่นเกิดอุบัติเหตุก็จะต้องมีจะต้องมีระบบรายงานเบื้องต้นโดยทันทีเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบได้ทันเวลาตลอด24 ชั่วโมงทั้งนี้ที่ปรึกษาผู้รับจ้างและกรมจะกำหนดวิธีการและผู้รับผิดชอบในการรายงานและรับทราบรายงานเบื้องต้นดังกล่าวในกรณีฉุกเฉินอีกครั้งก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง

นอกจากนี้หากเป็นกรณีฉุกเฉินเช่นเกิดอุบัติเหตุก็จะต้องมีระบบรายงานเบื้องต้นโดยทันทีเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบได้ทันเวลาตลอด24 ชั่วโมงทั้งนี้ที่ปรึกษาผู้รับจ้างและกรมจะกำหนดวิธีการและผู้รับผิดชอบในรายงานและรับทราบรายงานเบื้องต้นดังกล่าวในกรณีฉุกเฉินอีกครั้งก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง

วิธีการเก็บรวบรวมงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างประกอบด้วยเอกสารขออนุมัติทำงานประจำวัน (Daily Request) รายงานผลงานประจำวัน (Daily Report) เอกสารบันทึกต่างๆที่แนบไว้กับรายงานและ/หรือจดหมายโต้ตอบที่เกี่ยวข้องตลอดจนการบันทึกสภาพดินฟ้าอากาศในสถานที่ก่อสร้างแต่ละวันพร้อมทั้งสรุปการทำงานในแต่ละสัปดาห์เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างให้กรมทราบและตรวจสอบได้ทุกเวลา

ขั้นตอนในการปฏิบัติงานนั้นที่ปรึกษาจะทำการตกลงกับผู้รับจ้างให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารล่วงหน้าเพื่อขออนุมัติทำงานประจำวัน (Daily Request) ในทุกๆงานประกอบด้วยงานที่จะปฏิบัติและ/หรืองานที่จะทดสอบประจำวันหลังจากงานที่ปฏิบัติและ/หรืองานที่ทดสอบแล้วเสร็จจึงสามารถสรุปรายงานประจำวัน (Daily Report) และพร้อมกับมีการบันทึกสภาพดินฟ้าอากาศในสถานที่ก่อสร้างแต่ละวันโดยที่ปรึกษาจะเก็บรวบรวมรายงานการบันทึกการควบคุมงานประจำวันและรายงานแยกประเภทของงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างสรุปปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นโดยการจัดเก็บเอกสารเป็นระบบตามการบริหารงานระบบคุณภาพของโครงการ

หลังจากนั้นเมื่อผลงานการปฏิบัติงานครบ1 สัปดาห์ที่ปรึกษาจะสรุปรวบรวมรายงานต่างๆเหล่านี้โดยดำเนินการได้3 วิธีคือ

  • วิธีที่ 1 ที่ปรึกษาดำเนินการเก็บรวบรวมรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตลอดจนสภาพดินฟ้าอากาศในสถานที่ก่อสร้างของแต่ละวัน พร้อมทั้งสรุปการทำงานในแต่ละสัปดาห์จัดเก็บไว้ในสำนักงานสนามด้วยระบบควบคุมเอกสาร และบรรจุเข้าในฐานข้อมูล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วต่อกรมในการติดตามตรวจสอบได้ทุกเวลา
  •   วิธีที่ 2 ที่ปรึกษาจัดทำเป็นเอกสารรายงานสรุปความก้าวหน้าประจำสัปดาห์ทุกๆ สัปดาห์ประกอบด้วยผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างประจำสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่สัปดาห์แรกจนกระทั่งสัปดาห์สุดท้ายที่สิ้นสุดสัญญาในช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง รายละเอียดของผลงานความก้าวหน้าทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณงาน มีการคำนวณผลงานเป็นเปอร์เซ็นต์งานที่ทำได้จริง เปอร์เซ็นต์งานสะสมที่ทำได้จริง เพื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์งานที่วางแผนประจำสัปดาห์ซึ่งเป็นการคำนวณมาจากแผนงานหลักที่ได้รับการอนุมัติแล้วของโครงการ สรุปผลการดำเนินงานของผู้รับจ้างประจำสัปดาห์ตามแผนงาน มีการบันทึกปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน จำนวนบุคลากรของผู้ว่าจ้าง ชนิดและจำนวนเครื่องจักรอุปกรณ์ และสภาพดินฟ้าอากาศในสถานที่ก่อสร้าง
  •   วิธีที่ 3 ที่ปรึกษารายงานความก้าวหน้าประจำสัปดาห์ในที่ประชุมร่วมประจำสัปดาห์ระหว่างกรม ที่ปรึกษาและผู้รับจ้าง ซึ่งจะได้รับทราบการตรวจสอบร่วมกันทุกฝ่ายและมีการบันทึกในที่ประชุมอย่างเป็นทางการ

(18)  ตรวจสอบและให้คำแนะนำกรมต่อเรื่องที่ผู้รับจ้างเรียกร้องขอขยายระยะเวลาของสัญญาก่อสร้าง รวมถึงข้อเรียกร้องการเพิ่มราคาค่าก่อสร้างและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

       โดยหลักการแล้วที่ปรึกษาต้องกำกับตรวจสอบดูแลให้งานของผู้รับจ้างดำเนินการเป็นไปตามแผนงานหากเกิดความล่าช้าที่ปรึกษาจะทำการวิเคราะห์ถึงปัญหาตลอดจนวิธีการแก้ไขและมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจ้างปรับปรุงแก้ไขและ/หรือปรับแก้แผนงานให้สามารถดำเนินการได้ภายในกรอบของเวลาที่กำหนดไว้อย่างไรก็ตามอาจจะมีสาเหตุบางประการที่ทำให้การก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกรอบองเวลาที่กำหนดที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อมูลสรุปให้กรมได้ทราบถึงสาเหตุเหล่านั้นรวมทั้งให้คำแนะนำเพื่อที่กรมจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาในการเรียกร้องขอต่อระยะเวลาของสัญญาก่อสร้างของผู้รับจ้างอย่างสมเหตุสมผล

       ในกรณีที่ผู้รับจ้างเรียกขอเงินค่าจ้างเพิ่มเติมสำหรับงานก่อสร้างรายการใดๆหรือมีข้อเรียกร้องอื่นๆในทำนองเดียวกันก็ตามที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำแก่กรมในการหาวิธีป้องกันแก้ไขหรือช่วยเหลือกรมในการจัดเตรียมข้อมูลประกอบและพิจารณาข้อเรียกร้องนั้นๆโดยตรวจสอบสาเหตุตามที่ผู้รับจ้างอ้างถึงว่ามีเหตุมีผลเพียงพอและยอมรับได้หรือไม่อย่างไรทั้งนี้ที่ปรึกษาจะยึดถือเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆตามสัญญาเป็นหลักในการพิจารณาตรวจสอบรวมทั้งการให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะแก่กรมประกอบการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อโครงการมากที่สุด

กรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงลักษณะงานและอาจก่อให้เกิดการเรียกร้องของผู้รับจ้างดังนั้นการเปลี่ยนแปลงลักษณะงานให้เหมาะสมจะต้องสามารถทำได้ทันทีอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกันงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องซึ่งจะเป็นผลดีต่อโครงการ

ที่ปรึกษามีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในงานเป็นอย่างดีนั้นจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นปัญหาทั้งในเรื่องของการขยายระยะเวลาก่อสร้างและ/หรือการจ่ายค่างานเพิ่มเติมนับแต่รับทราบถึงเหตุที่จะก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวด้วยความรู้ความเข้าใจในโครงการของที่ปรึกษาที่ปรึกษาสามารถให้คำแนะนำแก่กรมและ/หรือผู้รับจ้างเพื่อระงับ/บรรเทาเหตุดังกล่าวได้แต่เนิ่นๆและอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

(19)  ทำหน้าที่แทนกรมในการเจรจาต่อรองกับผู้รับจ้างในส่วนที่เกี่ยวกับงาน และราคาซึ่งมิได้ระบุไว้ในสัญญา รวมถึงให้เสนอขอความเห็นชอบจากกรมในการดำเนินการที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้รับจ้างเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวัสดุและค่าจ้างซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาหรือรายการก่อสร้างและกรมมีความประสงค์ให้ผู้รับจ้างดำเนินการนั้นที่ปรึกษาจะให้การสนับสนุนและแนะนำกรมในการตรวจสอบและวิเคราะห์คำนวณเพื่อให้ความเห็นในเรื่องรูปแบบเทคนิควิธีการแผนงานและราคาซึ่งจะได้ตรวจสอบเทียบกับแผนงานก่อสร้างและปริมาณงานรวมถึงวงเงินค่าก่อสร้างโครงการตามสัญญาว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาอย่างไรเพื่อจัดเตรียมข้อมูลนำเสนอให้กรมพิจารณา

ที่ปรึกษาจะเริ่มจากการกำหนดหลักเกณฑ์และเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงและการพิจารณาราคาจัดเตรียมข้อมูลต่างๆของงานที่ต้องเพิ่มเติมนั้นเช่นปริมาณงานและแยกแยะรายละเอียดการประมาณราคาค่าก่อสร้างให้ชัดเจนเช่นค่าวัสดุค่าแรงค่าดำเนินการเป็นต้นตลอดจนวิธีการและระยะเวลาในการก่อสร้างรวมทั้งให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อกรมประกอบกับการจัดทำรายละเอียดการแก้ไขสัญญาและ/หรือสัญญาเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและอนุมัติโดยยึดถือเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆตามสัญญาเป็นหลักในการพิจารณาตรวจสอบรวมทั้งการให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะแก่กรมประกอบการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและเกิดประโยชน์ต่อโครงการมากที่สุดและจะช่วยเหลือกรมในการเจรจาตกลงกับผู้รับจ้างจนได้ข้อยุติรวมถึงในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อสร้างเรียกร้องขอเงินค่าจ้างเพิ่มเติมสำหรับงานก่อสร้างรายการใดหรือมีข้อเรียกร้องอื่นๆในทำนองเดียวกันก็ตามที่ปรึกษาจะช่วยเหลือกรมในการพิจารณาข้อเรียกร้องนั้นๆโดยตรวจสอบสาเหตุตามที่ผู้รับจ้างอ้างถึงว่ามีเหตุผลเพียงพอและยอมรับได้หรือไม่อย่างไร

(20)  วางแผน จัดทำรายละเอียด และทำการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแจ้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการให้ได้รับข้อมูลล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมรับผลกระทบนั้นๆ ด้วยความเข้าใจทั้งนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากกรมก่อนการประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในกระบวนสร้างความเข้าใจและลดผลกระทบจากกิจกรรมการก่อสร้างของโครงการต่อชุมชนและสังคมแนวทางในการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์เน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการผลประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อโครงการแล้วเสร็จวิธีการลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้างและการจัดเตรียมมาตรการป้องกันปัญหามาตรการในการรองรับปัญหาอันประกอบด้วยทั้งมาตรการเชิงรุกและมาตรการเชิงรับที่มีการวางแผนและหารือร่วมกันกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ก่อสร้างและพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าการก่อสร้างโครงการกรมและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันแก้ไขปัญหารวมถึงการสร้างความเข้าใจกับประชาชนผ่านกิจกรรมการการประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นในระดับที่เปิดกว้างซึ่งการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์จะสามารถสร้างความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยจะมีการดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้มีความสอดคล้องกับรายละเอียดในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างโครงการและจัดให้มีบุคลากรรับผิดชอบดำเนินการงานประชาสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอดการก่อสร้างโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

(ก)   เพื่อให้การสื่อสารระหว่างโครงการกับชุมชน ผู้สนใจโครงการ และประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยของการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งยินดีรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนถึงข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการ เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงานก่อสร้างให้เกิดประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการต่อผู้ได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนผู้ที่สนใจทั่วไป รวมทั้งให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายข้างต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการมีส่วนร่วมต่อการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้าง

(ข)   เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีจะนำมาสู่ความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีตลอดจนความเชื่อถือที่ประชาชนจะมอบให้แก่หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการ

(ค)   เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับการดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการมาใช้ในการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ในขั้นตอนการก่อสร้างโครงการ ให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ ที่สุด

พื้นที่ดำเนินงานหลักครอบคลุมพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการตลอดจนถึงพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการอันได้แก่

  •   ชุมชนที่อยู่ตามแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการและมีทางเข้า-ออกผ่านพื้นที่โครงการ
  •   พื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค อันเนื่องมาจากกิจกรรมการก่อสร้าง
  •   พื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการจัดการจราจรและด้านสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้าง
  •   พื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านความปลอดภัย ความเสี่ยงภัยจากกิจกรรมการก่อสร้าง
  • กลุ่มเป้าหมายของการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วยประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้เขตทางของโครงการและพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้ององค์กรภาคเอกชนที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิประชาชนต่างๆ สถาบันการศึกษาและวิชาชีพ ด้านวิศวกรรม/การก่อสร้าง/การคมนาคม-ขนส่งสื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

 

การดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานรวบรวมข้อมูลจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกับโครงการซึ่งได้แก่กรมผู้รับจ้างหน่วยงานด้านระบบสาธารณูปโภคหน่วยงานด้านการควบคุมจราจรเป็นต้นหลังจากนั้นจะดำเนินการจัดการทำสื่อที่จะนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์โครงการโดยกิจกรรมนี้จะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงานก่อสร้างขั้นตอนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคขั้นตอนการจัดจราจรในระหว่างการก่อสร้างขั้นตอนการก่อสร้างและขั้นตอนการเปิดใช้โครงการ

ขั้นตอนการเตรียมงานก่อสร้าง

(1)   การเข้าพบและหารือกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น

ที่ปรึกษาจะเข้าพบและหารือกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นทันทีที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินโครงการนี้ เพื่อแนะนำโครงการ รวบรวมข้อมูลพื้นฐานเพิ่มเติม และหารือเกี่ยวกับรูปแบบการจัดกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีประเด็นสำคัญในการประชาสัมพันธ์และหารือดังนี้

  • สภาพการจราจรในพื้นที่ : เพื่อระบุตำแหน่งที่เป็นจุดวิกฤตด้านการจราจรในพื้นที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ระบุเวลาที่เป็นปัญหาจราจร ลักษณะของปัญหาจราจรและแนวทางการแก้ไขในปัจจุบันก่อนมีการดำเนินการก่อสร้าง
  • สภาพปัญหาด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ : โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค
  • ความคิดเห็นต่อแนวทางการลดผลกระทบของโครงการ : เป็นการรับฟังความคิดเห็นและเป็นการสื่อสาร 2 ทาง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้น
  • การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ชุมชนผลิตสื่อเผยแพร่ซึ่งเนื้อหาของสื่อต้องให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย

(2)   การออกแบบและจัดทำWebsite ของโครงการ

Website ของโครงการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความก้าวหน้าของโครงการไปสู่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปรวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ทั้งทางWeb Board และทางE-mail โดยที่ปรึกษาจะจัดทำWebsite ของโครงการโดยการLink เข้ากับWebsite ของกรมรวมถึงมีการเชื่อมโยงไปยังWebsite อื่นๆของที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างนี้เช่นหน่วยงานปกครองท้องถิ่นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นเป็นต้นทั้งนี้ตามแต่กรมจะเห็นสมควรเนื้อหาของWebsite จะประกอบด้วยความเป็นมาของโครงการแผนที่ตั้งโครงการโครงสร้างองค์กรความก้าวหน้าของโครงการในแต่ละเดือนโดยเปรียบเทียบกับแผนงานที่กำหนไว้ความก้าวหน้าสะสมของโครงการปัญหาอุปสรรคและการแก้ไขการจัดการจราจรในบริเวณพื้นที่ทำการก่อสร้างภาพถ่ายความก้าวหน้าของการก่อสร้างโดยจะมีการประชาสัมพันธ์และแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของโครงการให้ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อให้คำแนะนำหรือสอบถามเป็นต้น

(3)   การเผยแพร่ข้อมูลเบื้องต้นของโครงการผ่านสื่อมวลชน

เพื่อเป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการให้กับสื่อมวลชนซึ่งเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนทั่วไปที่ปรึกษาจะได้ประสานงานกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรมดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเบื้องต้นของโครงการผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆดังนี้

  • ให้ข้อมูลโครงการเบื้องต้นแก่สื่อหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก เช่น การจัดการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น
  • ผลที่ได้คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดเบื้องต้น และมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการมากขึ้น สามารถวางแผนการเดินทาง หรือสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำและติดตามการจัดทำป้ายขนาดใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์งานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างก่อสร้างจะต้องจัดทำให้มีเนื้อหาครบถ้วนชัดเจนและติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสม

(21)  การสำรวจปริมาณการจราจรก่อนและหลังการก่อสร้างบริเวณโดยรอบของโครงการพร้อมนำข้อมูลสำรวจปริมาณการจราจรดังกล่าวนำไปทำการวิเคราะห์ความคุ้มทุนและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

       ที่ปรึกษาจะมอบหมายให้วิศวกรการทางและการจราจรเป็นบุคลากรหลักในการสำรวจปริมาณจราจรและศึกษาวิเคราะห์สภาพการจราจรบริเวณโดยรอบโครงการเปรียบเทียบกันระหว่างสภาพก่อนมีโครงการและภายหลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานโดยการสำรวจข้อมูลด้านการจราจรจะประกอบด้วยการสำรวจข้อมูลปริมาณจราจรและการสำรวจความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางบนโครงข่ายถนนสายหลักในบริเวณพื้นที่โครงการโดยมีรายละเอียดดังนี้

(1)   การสำรวจข้อมูลปริมาณจราจร

การสำรวจข้อมูลปริมาณจราจรบนช่วงถนน (Mid-Block Count) โดยนับยวดยานบนถนนในพื้นที่โครงการแยกตามประเภทและทิศทางในวันทำงานแกติเวลา 1 วัน โดยจะแยกเป็นการสำรวจระยะเวลารวม 15 ชั่วโมง (ระหว่าง 06.00-21.00 น.) และการสำรวจระยะเวลารวม 24 ชั่วโมง(ระหว่าง 06.00-06.00 น.วันรุ่งขึ้น)

โดยทั่วไป การสำรวจปริมาณจราจรจะแบ่งประเภทยวดยานเป็น 8 ประเภท ดังนี้

  • รถจักรยานยนต์ และรถสามล้อเครื่อง
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 4 ล้อ
  • รถยนต์บรรทุก 4 ล้อ (รถปิกอัพ)
  • รถยนต์โดยสาร 4 ล้อ
  • รถยนต์โดยสารตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุก 4 ล้อ (ที่ไม่ใช่รถปิกอัพ)
  • รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ
  • รถยนต์บรรทุก 10 ล้อ รวมถึงรถพ่วง

(2)   การสำรวจความเร็วเฉลี่ยในการเดินทาง

การสำรวจความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางบนโครงข่ายถนนสายหลักในพื้นที่โครงการสำรวจโดยวิธีรถทดลอง (Test Car Technique) โดยผู้สำรวจขับรถทดลองวิ่งไปบนถนนที่ทำการสำรวจพร้อมกับบันทึกเวลาและตัวเลขบอกระยะทางที่จุดเริ้มต้น-จุดสิ้นสุดของแต่ละช่วงถนนและนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณหาความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางของยวดยานบนเส้นทางถนนต่างๆโดยการสำรวจแบ่งเป็น3 ช่วงเวลาคือช่วงเวลาเช้า (06.00-09.00 น.) กลางวัน (09.00-16.00 น.) และเย็น(16.00-19.00 น.) ตามลำดับ

หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปวิเคราะห์ความคุ้มทุนและพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการต่อไปโดยจะเปรียบเทียบอธิบายด้วยดัชนีด้านการจราจรดังนี้

  • ปริมาณจราจรบนโครงข่ายหมายถึงปริมาณจราจรบนถนนสายหลักในพื้นที่โครงการพิจารณาในแง่การพัฒนาโครงข่ายแล้วโครงการที่มีปริมาณจราจรเข้าไปใช้มากย่อมดีและเหมาะสมกว่าโครงการที่ไม่ค่อยมีปริมาณจราจรแต่หากพิจารณาถนนเดิมที่ประสบปัญหาปริมาณจราจรแล้วโครงการใดที่สามารถบรรเทาปริมาณจราจรบนถนนเดิมได้มากกว่าย่อมเหมาะสมกว่าเช่นกัน
  • ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางเป็นดัชนีด้านการจราจรที่ใช้อธิบายความคล่องตัวในการเดินทางคือถนนใดมีความเร็วเฉลี่ยสูงแสดงว่ามีความคล่องตัวในการเดินทาง

(22)  จัดการมีส่วนร่วมภาคประชาชนตามรูปแบบและวิธีการที่กรมกำหนดและทำการสำรวจและประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้เส้นทางและประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณริมเขตทางเกี่ยวกับการบริหารจัดการของโครงการการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างการให้บริการของเจ้าหน้าที่คุณภาพในการใช้งานของโครงการก่อนและหลังมีโครงการและอื่นๆที่ที่ปรึกษาเห็นว่าควรมีการประเมิน

       ที่ปรึกษาจะมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์เป็นบุคลากรหลักในการสำรวจและประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้เส้นทางและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมเขตทางเกี่ยวกับการบริหารจัดการของโครงการการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างการให้บริการของเจ้าหน้าที่คุณภาพในการใช้งานของโครงการก่อนและหลังมีโครงการและอื่นๆซึ่งที่ปรึกษามีความเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการเป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปใช้วางแผนบริหารงานจัดการโครงการต่อไปเนื่องจากระชาชนในพื้นที่คือผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในทางบวกหรือทางลบก็ตามโดยทั่วไปการสำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับแนวเส้นทางโครงการมีวิธีการสำรวจศึกษาดังนี้

(1)   การกำหนดจำนวนตัวอย่าง

ที่ปรึกษาจะกำหนดแผนการสำรวจทัศนคติของประชาชนกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่โครงการซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆดังนี้

  • ชุมชนที่อยู่สองข้างทางของโครงการ

ที่ปรึกษาจะกำหนดจากจำนวนบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่สองข้างทางของโครงการโดยรวบรวมข้อมูลจำนวนครัวเรือนล่าสุดประกอบการคำนวณจากจำนวนตัวอย่างเนื่องจากการสอบถามและสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครัวเรือนต้องสอบถามจากหัวหน้าครัวเรือนหรือคู่สมรสหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนนั้นๆเพียง1 ราย/ครอบครัวดังนั้นที่ปรึกษาจะสุ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างจากจำนวนบ้านเรือนของประชากรเป้าหมายโดยใช้สูตรของTaro Yamane (1970) ดังนี้

กำหนดequation reference goes here

   n = จำนวนประชากรเป้าหมาย (ราย)

   N = จำนวนประชากรทั้งหมด (ครอบครัว)

   e = ค่าความคลาดเคลื่อน (0.05)

                                 ค่าความคลาดเคลื่อนที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้กำหนดให้เท่ากับ0.05 เนื่องจากในการศึกษาวิจัยโดยทั่วไปยอมรับผลการวิจัยที่มีความคลาดเคลื่อนได้ตั้งแต่0.01,0.05 จนถึง0.10 ซึ่งค่าความคลาดเคลื่อนที่ใช้อยู่ในเกณฑ์ของการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพ (เพ็ญแขแสงแก้ว, 2540)

  • กลุ่มประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน

ที่ปรึกษาจะทำการสำรวจจำนวนครัวเรือนทั้งหมดที่ถูกเวนคืนที่ดินที่ยังคงอยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการแล้วนำไปคำนวณจำนวนตัวอย่างที่จะเลือกสัมภาษณ์โดยใช้สูตรของTaro Yamane (1970) เช่นกัน

(2)   การสุ่มตัวอย่าง (Random Sampling)

การสุ่มตัวอย่างจะสุ่มสำรวจโดยวิธีสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) กล่าวคือไม่เลือกศึกษาประชากรเป้าหมายเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้นแต่จะสำรวจให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายสองข้างทางของโครงการในระยะ100 เมตร

ในการสำรวจจะทำการสัมภาษณ์ประชากรตัวอย่างโดยการใช้แบบสอบถามโดยจะแยกแบบสอบถามออกเป็น2 ชุดคือแบบสอบถามสำหรับประชาชนที่อยู่สองข้างทางของโครงการและแบบสอบถามสำหรับผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินแบบสอบถามทั้งสองแบบจะเป็น

แบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอนชัดเจนคำถามมีลักษณะเป็นคำถามปิดและคำถามเปิดโครงสร้างของแบบสำรวจทัศฯคติจะประกอบด้วย5 ประเด็นหลักคือ

  • ข้อมูลทั่วไปของผู้ให้สัมภาษณ์
  • สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน
  • ข้อมูลด้านสาธารณูปโภคและอนามัยของครอบครัว
  • ข้อมูลผลกระทบที่ได้รับจากการเปิดใช้โครงการ
  • ทัศนคติและข้อคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเปิดใช้โครงการ

นอกจากพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขตชุมชนเมืองด้วยเหตุนี้ในการสำรวจจะคัดเลือกกลุ่มประชากรตัวอย่างให้กระจายตามลักษณะอาชีพและประเภทของการประกอบการและใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างประชากรจากประชาชนในกลุ่มเป้าหมายการสำรวจจะดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับการตรวจสอบแก้ไขความถูกต้องให้มีความสมบูรณ์ตลอดเวลา

(3)   การเก็บข้อมูลภาคสนาม

แบบสำรวจทัศนคติดังกล่าวจะผ่านการทดสอบ (Pro-test) และปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปใช้ในการสัมภาษณ์โดยพนักงานซึ่งผ่านการอบรมในระเบียบและวิธีการสัมภาษณ์จะเป็นผู้ไปสัมภาษณ์ประชากรตัวอย่างเป็นรายบุคคลซึ่งการสำรวจข้อมูลภาคสนามจะดำเนินการหลังจากได้ทำการปรับปรุงข้อมูลในแบบสอบถามแล้ว

(4)   การแปลผลการศึกษา

ผลการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนจะทำการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางคอมพิวเตอร์SPSS (Statistical Package for Social Sciences) เพื่อคำนวณหาค่าความถี่ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าเฉลี่ยค่าต่ำสุดและค่าสูงสุดเพื่ออธิบายลักษณะของข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทัศฯคติตามที่ได้กำหนดผลที่ได้จะทำให้ทราบถึงผลกระทบต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่สองข้างทางของโครงการและประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน

(23)  เมื่อก่อสร้างตามโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดหรือบางส่วนที่ปรึกษาจะต้องทำการตรวจสอบและรับรองงานวันที่งานก่อสร้างแล้วเสร็จต่อกรม

       ภายหลังจากที่งานก่อสร้างตามโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดหรือบางส่วนที่ปรึกษาจะทำการตรวจสอบผลงานก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามรายละเอียดของแบบก่อสร้างและข้อกำหนดอื่นๆตามสัญญาแล้วหรือไม่หากพบว่างานก่อสร้างได้แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจแล้วที่ปรึกษาก็จะออกหนังสือรับรองวันที่การก่อสร้างแล้วเสร็จเสนอให้กรมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไปซึ่งวันที่คณะกรรมการตรวจการจ้างงานก่อสร้างได้รับรองว่างานแล้วเสร็จทั้งหมดจะถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับจ้างตามโครงการในกรณีที่กรมมีความประสงค์จะเปิดใช้โครงการบางส่วนที่แล้วเสร็จที่ปรึกษาจะตรวจสอบผลงานในส่วนนั้นก่อนและจะออกหนังสือรับรองผลงานแล้วเสร็จเฉพาะส่วนนั้นทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องรอตรวจรับงานทั้งโครงการ

(24)  เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จให้ที่ปรึกษาทำการสรุปรวบรวมปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างพร้อมแนวทางและวิธีการแก้ไขจัดเป็นหมวดหมู่และจัดทำเป็นรายงานส่วนหนึ่งของรายงานขั้นสุดท้ายให้กรมได้รับทราบต่อไป

       ภายหลังจากงานก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จและได้รับมอบหมายงานงวดสุดท้ายแล้วที่ปรึกษาจะจัดทำรายงานขั้นสุดท้าย (Final Report) ส่งมอบแก่กรมโดยรายงานดังกล่าวจะเป็นการกล่าวโดยสรุปถึงองค์ประกอบต่างๆของโครงการที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการดำเนินงานบรรยายผลการปฏิบัติงานของบุคลากรหลักทุกตำแหน่งตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมถึงปัญหาอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงานพร้อมแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นซึ่งที่ปรึกษาจะจัดทำแยกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนเพื่อง่ายต่อการค้นหาพร้อมสรุปปริมาณงานค่าก่อสร้างค่าควบคุมงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ถือเป็นงบลงทุนโครงการทั้งหมดโดยข้อมูลส่วนใหญ่จะคัดมาจากข้อมูลในรายงานความก้าวหน้าประจำเดือนและนำมาสรุปรวบรวมเพื่อให้มองเห็นถึงภาพรวมในการดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่องทั้งนี้ที่ปรึกษาจะนำเสนอในรูปของภาพถ่ายแผนภูมิตารางสถิติข้อมูลต่างๆเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่ายเนื้อหาของรายงานอย่างน้อยจะประกอบด้วย

  • บทนำประกอบด้วยความเป็นมาของโครงการวัตถุประสงค์รายละเอียดของสัญญาจ้างการบริหารโครงการและบุคลากร
  • ลักษณะของโครงการ
  • เทคนิคและขั้นตอนการก่อสร้าง
  • การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • การบริหารจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างและประชาสัมพันธ์
  • การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ระหว่างงานก่อสร้าง
  • การอำนวยการด้านความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง
  • การดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  • การประเมินการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง
  • ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและการแก้ไข
  • ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
  • ภาคผนวก ประกอบด้วย ตารางสรุปการเบิกจ่ายเงิน สรุปมูลค่างานก่อสร้าง รายนามเจ้าหน้าที่ของกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีการประสานงานระหว่างการก่อสร้างโครงการ รายงานวัสดุและแหล่งที่มาของวัสดุ รายละเอียดเครื่องจักรและบุคลากรของผู้รับจ้างในการทำงาน ขั้นตอนการก่อสร้างงานต่างๆ ตำแหน่งหมุดหลักฐานถาวรทั้งทางราบและทางดิ่ง ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในการควบคุมงานก่อสร้าง ภาพถ่ายงานก่อสร้างภาพถ่ายเพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง ภาพถ่ายเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ฯลฯ

(25)  เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จให้ที่ปรึกษาจัดทำรายงานและวิธีการตรวจสอบความเสียหายของสิ่งก่อสร้างโดยแสดงรายละเอียดให้ครบทุกรายการที่มีการก่อสร้างในสัญญาเพื่อใช้ในการตรวจสอบสภาพเสียหายระหว่างการรับประกันผลงานของผู้รับจ้างก่อสร้าง

       เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จที่ปรึกษาจะจัดทำรายงานและวิธีการตรวจสอบความเสียหายของสิ่งก่อสร้างโดยแสดงรายละเอียดให้ครบทุกรายการที่มีการก่อสร้างในสัญญาเพื่อใช้ในการตรวจสอบสภาพความเสียหายระหว่างการรับประกันผลงานของผู้รับจ้างก่อสร้างซึ่งที่ปรึกษาจะจัดเตรียมเอกสารข้อมูลเบื้องต้นของรายงานนี้ให้กรมตรวจสอบก่อนที่จะจัดทำเป็นรายงานและวิธีการตรวจสอบความเสียหายของสิ่งก่อสร้างของโครงการทั้งในรูปแบบของเอกสารและสื่อดิจิตอล

       ในเบื้องต้นที่ปรึกษาขอเสนอแนวคิดในการจัดทำรายงานและวิธีการตรวจสอบความเสียหายของสิ่งก่อสร้างของโครงการซึ่งจะประกอบด้วย

(1)   ลักษณะของโครงการ

(2)   วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ

(3)   แผนงานการตรวจสอบ

(4)   บุคลากรที่ทำการตรวจสอบ

(5)   เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบ

(6)   หัวข้อในการตรวจสอบและวิธีการตรวจสอบ

(7)   การแบ่งระดับชั้นของความเสียหาย

(8)   การบันทึกและรายงานผลการตรวจสอบ

รายงานและวิธีการตรวจสอบความเสียหายของสิ่งก่อสร้างนี้จะมุ่งเน้นถึงระบบการตรวจสอบที่มีการพัฒนามากขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลที่บันทึกในฐานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพสามารถกำหนดขั้นการประเมินหรือระดับความเสียหายของโครงสร้างและส่วนประกอบอื่นๆซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนให้เลือกวิธีการซ่อมแซมและบำรุงรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

(26)  ในระหว่างระยะเวลาการรับประกันผลงานของผู้รับจ้างก่อสร้างที่ปรึกษาจะต้องตรวจสอบข้อบกพร่องของสิ่งต่างๆตามสัญญาก่อสร้างให้ครบถ้วนทุกรายการตามที่ระบุไว้ในข้อ (25) และจัดทำรายงานการตรวจสอบเสนอกรมทุกระยะ3 เดือนโดยในรายงานดังกล่าวให้ระบุถึงรายการที่พบว่ามีความชำรุดเสียหายภาพถ่ายประกอบพร้อมการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความเสียหายและเสนอวิธีการแก้ไขรวมถึงการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในลักษณะเช่นเดิมอีกทั้งนี้ที่ปรึกษาจะต้องให้คำแนะนำแก่กรมเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับจ้างก่อสร้างในการซ่อมแซมหรือวิธีการแก้ไขชำรุดบกพร่องดังกล่าวรวมถึงที่ปรึกษาจะต้องลงไปควบคุมดูแลการซ่อมแซมหรือการแก้ไขข้อชำรุดบกพร่องของผู้รับจ้างและรายงานผลการซ่อมแซมให้กรมทราบต่อไปและถ้ากรมเห็นสมควรที่จะขอให้ที่ปรึกษาไปตรวจสอบข้อบกพร่องเพิ่มเติมที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการตามคำขอนั้นโดยไม่ชักช้าและไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

       ในระหว่างระยะเวลาการรับประกันผลงาน (Period of Maintenance) ของผู้รับจ้างก่อสร้างที่ปรึกษาจะมอบหมายให้วิศวกรโครงการวิศวกรโครงการพร้อมด้วยบุคลากรสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบสิ่งก่อสร้างต่างๆตามสัญญาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ1-2 ครั้งโดยในการตรวจสอบแต่ละครั้งที่ปรึกษาจะดำเนินการดังนี้

  • สำรวจสภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆเช่นเสาโครงการผิวจราจรทางเท้าระบบไฟฟ้าแสงสว่างระบบระบายน้ำเป็นต้นเพื่อตรวจสอบว่ามีร่องรอยชำรุดหรือมีข้อบกพร่องหรือไม่อย่างไร
  • หากพบร่องรอยชำรุดหรือข้อบกพร่องก็จะทำการบันทึกภาพและรายละเอียด และวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดการชำรุดหรือบกพร่องนั้นๆ
  • เสนอแนะวิธีการและขั้นตอนในการแก้ไข/ซ่อมแซม โดยหากเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข/ซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน หรือมีผลต่อความปลอดภัยของประชาชน ที่ปรึกษาจะแจ้งให้กรมทราบทันทีพร้อมกันนั้นที่ปรึกษาจะได้ตรวจสอบว่าภาระหน้าที่ในการแก้ไข/ซ่อมแซมดังกล่าวเป็นภาระของผู้รับจ้างตามข้อกำหนดของสัญญาหรือไม่อย่างไร และให้รายละเอียดแก่กรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบของ ผู้รับจ้างในการซ่อมแซมนั้นๆ
  • ประมาณการค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่เหมาะสมในการแก้ไข/ซ่อมแซม
  • ควบคุมดูแลแก้ไข/ซ่อมแซมให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญา และสามารถใช้งานได้โดยปกติโดยเร็วที่สุด

       เมื่อครบกำหนดในแต่ละช่วง2 เดือนที่ปรึกษาจะนำข้อมูลต่างๆข้างต้นมารวบรวมจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบเสนอให้กรมพิจารณาต่อไปโดยในรายงานดังกล่าวจะระบุถึงรายการที่พบว่ามีความชำรุดเสียหายภาพถ่ายประกอบพร้อมการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความเสียหายและเสนอวิธีการแก้ไขรวมถึงวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในลักษณะเช่นเดิมอีกพร้อมทั้งรายงานผลการซ่อมแซมให้กรมทราบด้วยทั้งนี้หากกรมขอให้ที่ปรึกษาออกไปตรวจสอบข้อบกพร่องเพิ่มเติมที่ปรึกษาก็ยินดีจะดำเนินการตามคำขอนั้นโดยทันทีและจะไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด

(27)  ไม่ว่าจะมีการตรวจพบข้อชำรุดบกพร่องตามที่กล่าวในข้อ (26) หรือไม่ก็ตามเมื่อใกล้จะสิ้นระยะเวลาการรับประกันผลงานของผู้รับจ้างก่อสร้างที่ปรึกษาจะต้องตรวจสอบงานก่อสร้างดังกล่าวให้ครบทุกรายการถ้าเห็นว่างานก่อสร้างไม่มีสิ่งชำรุดเสียหายที่ปรึกษาจะต้องจัดทำใบรางานการตรวจสอบสภาพก่อนการคืนค้ำประกันสำหรับผู้รับจ้างก่อสร้างให้กรมพิจารณาแต่ถ้าที่ปรึกษาพบว่ามีงานชำรุดบกพร่องอยู่ที่ปรึกษาจะต้องให้คำแนะนำและช่วยเหลือกรมดำเนินการในส่วนที่เหลือนั้นจนงานแล้วเสร็จสมบูรณ์หลังจากนั้นที่ปรึกษาจึงออกใบรายงานการตรวจสอบสภาพการคืนค้ำประกันดังกล่าว

       เมื่อใกล้จะครบระยะการบำรุงรักษาของผู้รับจ้างก่อสร้างซึ่งมีกำหนด24 เดือนนับตั้งแต่งานก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาที่ปรึกษาจะทำการตรวจสอบงานก่อสร้างขั้นสุดท้ายโดยสำรวจสภาพทุกองค์ประกอบของโครงการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งเป็นสุดท้ายก่อนที่ผู้รับจ้างจะหมดภาระผูกพันกับกรมตามสัญญาพร้อมทั้งประเมินสภาพของแต่ละองค์ประกอบเหล่านั้นว่ามีสภาพที่ดีเรียบร้อยสวยงามและสามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นต่อไปได้หรือไม่หรือว่ามีสภาพที่ชำรุดเสียหายและต้องมีการแก้ไข/ซ่อมแซมอย่างไรเพื่อให้กรมได้รับทราบสภาพองค์ประกอบของโครงการทั้งหมดก่อนที่กรมจะรับโครงการมาดูแลบำรุงรักษาต่อไป

       หากการแก้ไข/ซ่อมแซมดังกล่าวเป็นภาระหน้าที่ของผู้รับจ้างตามข้อกำหนดของสัญญาที่ปรึกษาก็จะแจ้งผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไข/ซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็วหลังจากนั้นเมื่อที่ปรึกษาเห็นว่างานทั้งหมดถูกต้องครบถ้วนทุกประการแล้วก็จะจัดทำใบรายงานการตรวจสอบสภาพก่อนการคืนค้ำประกันเสนอให้กรมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

(28)  ระยะเวลารับผิดชอบของที่ปรึกษาตามสัญญานี้มีอยู่ตลอดไปจนถึงวันที่กรมได้รับใบรายงานการตรวจสอบสภาพก่อนการคืนค้ำประกันตามข้อ (27) และได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมแล้ว

       ในระหว่างการควบคุมการก่อสร้างของโครงการที่ปรึกษาจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อผูกพันของสัญญาและใช้ความรู้ความชำนาญทางด้านเทคนิคอย่างดีที่สุดเพื่อให้งานเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทางวิชาชีพนานาชาติโดยที่ปรึกษาจะปฏิบัติงานด้วยความชำนาญและเอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กรมมากที่สุดตลอดระยะเวลาการรับผิดชอบของที่ปรึกษาซึ่งจะมีอยู่จนถึงวันที่กรมได้รับใบรายงานการตรวจสอบสภาพก่อนการคืนค้ำประกันที่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมแล้วอย่างไรก็ตามเมื่อมีความจำเป็นที่เกิดขึ้นหลังจากที่สิ้นสุดสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาแล้วที่ปรึกษาก็พร้อมที่จะช่วยบริการให้คำปรึกษาแก่กรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการทางด้านเทคนิคและปัญหาทางด้านการจัดการอื่นๆ (ถ้ามี) โดยไม่ชักช้าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

       ในกรณีที่ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างจริงเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ปรึกษาก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จและสัญญาของที่ปรึกษาก็จะขยายไปเท่ากับระยะเวลาที่เกินนั้นโดยจำแนกเป็น3 กรณีดังนี้

(1)   ในกรณีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างเกิดจากความผิดพลาดหรือความบกพร่องของที่ปรึกษาที่ปรึกษาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองทั้งหมดสำหรับการปฏิบัติงานเพิ่มเติมเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

(2)   ในกรณีที่การขยายระยะเวลาการก่อสร้างเกิดจากความผิดพลาดหรือความบกพร่องของผู้รับจ้างก่อสร้างกรมจะจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานให้กับที่ปรึกษาตั้งแต่เวลาที่เกินกว่ากำหนดในสัญญาเป็นต้นไปจนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์โดยจะหักจากการเบิกเงินค่าก่อสร้างของผู้รับจ้างตามอัตราไม่เกินที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างงานก่อสร้าง

(3)   ในกรณีการขยายระยะเวลาก่อสร้างไม่ได้เกดจากกรณีที่ (2) ที่ปรึกษาจะต้องปฏิบัติงานจนแล้วเสร็จโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้างเพิ่มเติมจากกรม

(29)  นอกจากที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในรายการข้อกำหนดและขอบข่ายของงานนี้แล้ว ที่ปรึกษาสามารถเสนอการดเนินการอื่นใดเพิ่มเติมที่เห็นว่าเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาเพื่อให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยมั่นคง แข็งแรง สวยงาม และถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรม

       ด้วยความตระหนักในภาระหน้าที่ของที่ปรึกษาที่ดีนอกเหนือไปจากงานที่ระบุไว้ในรายการข้อกำหนดและขอบข่ายงานดังกล่าวแล้วที่ปรึกษายังยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือกรมในการดำเนินการอื่นๆเพิ่มเติมตามที่กรมร้องขอหรือตามที่จะพึงเห็นได้ว่าเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของที่ปรึกษาพบว่ายังคงมีงานอื่นๆที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อโครงการแต่มิได้ระบุไว้ในรายการข้อกำหนดเช่นการช่วยเหลือกรมในการจัดนิทรรศการสำหรับพิธีเปิดโครงการเป็นต้นเพื่อให้การดำเนินโครงการสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

 

 

 

3.4     งานบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามระเบียบวาระแห่งชาติ“แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี”

3.4.1  ข้อกำหนดนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ที่ปรึกษาจะประสานผู้รับจ้างก่อสร้างร่วมกันจัดทำนโยบายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการติดประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบและมีบอร์ดประชาสัมพันธ์นโยบายให้เห็นได้ชัดเจนประกอด้วยหลักการ 5 ประการดังต่อไปนี้

(1)    คำนึงถึงข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ

(2)    คำนึงถึงการสร้างความร่วมมือในกิจกรรมด้านความปลอดภัยของพนักงานทุกระดับ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

(3)    การกำหนดนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ให้สอดคล้องกับขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง

(4)    มีการกำหนดข้อตกลงด้านความปลอดภัยให้กับผู้รับเหมาช่วงต้องปฏิบัติซึ่งเป็นเงื่อนไขในนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่กำหนดให้ผู้รับเหมาช่วงที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยของลูกจ้าง

(5)    มีการกำหนดจุดยืนด้านความปลอดภัยในวงการก่อสร้างหรือต่อสาธารณชนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม

3.4.2   ข้อกำหนดแผนงานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ที่ปรึกษาจะประสานผู้รับจ้างก่อสร้างร่วมกันจัดทำแผนงานประจำปีดานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและรายงานผลการดำเนินงานให้กรมทราบเป็นประจำทุกๆ 1 เดือนโดยมีการกำหนดเกณฑ์การประเมินผลและมีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนงานและนโยบายที่กำหนดไว้มีหลักการดังนี้

(1)    ผู้บริหารระดับสูงสุดต้องให้ความสำคัญ/มีส่วนในแผนงาน

(2)    ฝ่ายบริหารงานความปลอดภัยมีการจัดแบ่งงานหรือกระจายความรับผิดชอบตามแผนอย่างเหมาะสม

(3)    ระบุรายละเอียดของแผนงานให้ชัดเจนเช่นวิธีการค้นหาการประเมินและการควบคุมอันตรายจากสภาพการทำงาน

(4)    มีการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการรับผิดชอบแผนงาน

(5)    จัดให้มีการประชุมหารือซักซ้อมการปฏิบัติงานตามแผนเพ่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือปัญหาการไม่ให้ความร่วมมือหรือความขัดแย้ง

(6)    กำหนดให้หัวหน้างานชั้นต้นชั้นกลางมีหน้าที่ในการติดตามดูแลการปฏิบัติตามแผนและต้องรายงานผลต่อผู้บังคับบัญชาอย่างเสมอ

(7)    จัดให้มีการอบรมผู้ปฏิบัติงานตามแผนเพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง

(8)    ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม

(9)    ผู้จัดการในสายงานบังคับบัญชาและสายงานช่วยจะทราบหน้าที่รับผิดชอบและมีการกำหนดวิธีการประเมินหน้าที่รับผิดชอบของงาน

(10)  การตรวจประเมินความปลอดภัย (Safety Audit)

เป็นการตรวจประเมินประจำสัปดาห์หรือประจำเดือนตามตัวอย่างในแบบฟอร์มร่วมตรวจ 3 ฝ่ายประกอบด้วยตัวแทนจากกรมทางหลวงชนบทที่ปรึกษาและผู้รับจ้างในสถานที่ก่อสร้างแต่ละงานที่ครอบคลุมทั้งโครงการโดยให้สามารถคำนวณผลการตรวจออกมาเป็นค่าคะแนนและเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยโดยกำหนดเกณฑ์มากกว่า 50% ของความปลอดภัยผ่านเกณฑ์หากต่ำกว่า 50% จะต้องมีวิธีการปรับปรุงแก้ไขระบบโดยรวมเนื่องจากมีแนวโน้มเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นสูงดังตัวอย่างแบบฟอร์มการตรวจสอบร่วมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานประจำสัปดาห์หรือประจำเดือนที่กำหนดไว้ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับสภาพหน้างานจริงในเวลานั้น

(11)  จัดระบบเฝ้าระวัง/ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ทั้งเรื่องของบุคคลและการประสานงาน

(12)  สนับสนุนด้านทรัพยากรการบริหารให้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบได้เหมาะสมเช่นงบประมาณเวลาบุคลากรเครื่องมือและวัสดุต่างๆฯลฯ

 

3.4.3   การจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด

ที่ปรึกษาประสานผู้รับจ้างก่อสร้างในการนำเสนอแนวทางการจัดตั้งองค์กรบริหารงานความปลอดภัยอาชีว-อนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานดังนี้

  • การกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการด้านความปลอดภัยนโยบายความปลอดภัยจะเป็นเครื่องชี้เจตนารมณ์ของฝ่ายบริหาร
  • การจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้ประกอบด้วยตัวแทนของ กรม ที่ปรึกษา ผู้รับจ้าง และหัวหน้าพนักงานเป็นอย่างน้อย
  • ประสานผู้รับจ้างก่อสร้างมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับตามที่กฎหมายกำหนดไว้
  • การจัดตั้งหน่วยงานความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อมารับผิดชอบงานความปลอดภัยอย่างจริงจัง ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยหน่วยงานความปลอดภัยนั้นอยู่ในข่ายบังคับ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขั้นไปขึ้นตรงต่อผู้บริหารสูงสุดในโครงการ
  • การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัย พนักงานทุกระดับจะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการทำงาน โดยกำหนดไว้ใน Job Description

3.4.4   ประสานผู้รับจ้างก่อสร้างร่วมกันจัดทำระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอแนะ ด้านความปลอดภัย             อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(1)    ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนและวิเคราะห์ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  • การสอบสวนด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

วัตถุประสงค์

  • เพื่อศึกษาและค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และสภาพการณ์ที่เป็นอันตรายต่างๆ
  • เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันอุบัติเหตุ โดยอาศัยการแก้ไขและปรับปรุงที่ถูกต้อง
  • เพื่อพิจารณาค้นหาความจริงที่เป็นมูลเหตุที่ทำให้คนงานทำงานในลักษณะของการกระทำที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ถูกต้องตามข้อบังคับซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
  • เพื่อให้ทราบถึงผลของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ ตลอดทั้งความเสียหายต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูล เป็นการกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องเพิ่มความสนใจในการป้องกัน
  • เพื่อประโยชน์ในการเก็บรวบรวมทางสถิติและการวิเคราะห์อุบัติเหตุ

หลักการสำคัญในการสอบสวน

  • ผู้สอบสวนต้องมีความคิดอ่านและสามัญสำนึกที่ชัดแจ้งเป็นรูปธรรม
  • ผู้สอบสวนต้องมีความรูกับขบวนการผลิตคุ้นเคยกับเครื่องจักร คนงาน ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆ ของแผนกที่เกิดอุบัติเหตุ
  • ผู้สอบสวนไม่ควรเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของหัวหน้างาน หรือผู้ควบคุมงานในแผนกที่เกิดอุบัติเหตุ
  • การสอบสวนต้องทำทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง สิ่งต่างๆ ที่อาจก่ออุบัติเหตุต้องสอบสวนอย่างละเอียด ควรกระทำเป็นกลุ่มหรือคณะทำงาน เพื่อให้ได้สาเหตุที่แท้จริง การสอบสวนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อมีการทำรายงาน และเสนอแนวทางแก้ไข
  • การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (Job Safety Analysis : JSA)

แนวทางการวิเคราะห์

  • ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย กฎกระทรวงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ มีหน้าที่วิเคราะห์งานเพื่อชี้บ่งอันตราย รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง
  • วิธีการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ
  • การเลือกงานที่จะวิเคราะห์จะเลือกงานที่มีอันตรายมากที่สุดเป็นอันดับแรกพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ
  • การจัดลำดับขั้นตอนการทำงาน
  • การค้นหาอันตรายที่มีอยู่หรืออาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนการทำงาน
  • การกำหนดวิธีควบคุมป้องกันอันตราย
  • การวิเคราะห์อุบัติเหตุ

ที่ปรึกษาเสนอแนะและให้คำปรึกษาผู้รับจ้าง ในมาตรฐานการคำนวณค่าสถิติอุบัติเหตุ เพื่อการเปรียบเทียบอัตราประสบอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ มาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI) โดยแยกตามอัตราความถี่และอัตราความรุนแรงของการประสบอันตรายซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างมาก ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • อัตราความถี่ของการประสบอันตราย (Injury Frequency Rate : IFR) หมายถึง จำนวนพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน มีหน่วยเป็นรายต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน โดยคำนวณได้จากสูตร

*1,000,000 เป็นตัวเลขชั่วโมงการทำงานเปรียบเทียบโดยสภาความปลอดภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Safety Council: NSC) พิจารณาจากจำนวนพนักงานทำงานเต็มเวลา 500 คนปีละ 50 สัปดาห์สัปดาห์ละ 5 วันวันละ 8 ชั่วโมง (1,000,000 = 500 x 50 x 5 x 8)

  • อัตราความรุนแรงของการประสบอันตราย (Injury Severity Rate : ISR) หมายถึงจำนวนวันหยุดงานทั้งหมดของพนักงานที่ไดรับบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงานมีหน่วยเป็นวันต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงานโดยคำนวณได้จากสูตร

  • ความรุนแรงของการบาดเจ็บโดยเฉลี่ย (Average Severity of the Injuries : ASI) หมายถึง ค่าที่แสดงถึงความรุนแรงของการบาดเจ็บของพนักงาน โดยพิจารณาจากพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วยหนึ่งรายจะหยุดงานโดยเฉลี่ยกี่วัน โดยคำนวณได้จากสูตร

  • การเปรียบเทียบอัตราความถี่การบาดเจ็บโดยการประยุกต์หลักเซฟ ที สกอร์(Safe-T-Score)

เซฟ ที สกอร์(STS) เป็นวิธีการทางสถิติที่นำมาใช้ทดสอบความแตกต่างของอัตราความถี่ของการบาดเจ็บในอดีตกับปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบดูว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดระบบการเก็บบันทึกอุบัติเหตุและการแปรผันข้อมูล ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลสนับสนุน แผนงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างดี การคำนวณ เซฟ ที สกอร์ จะใช้วิธีทดสอบแบบที (T-Test) ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร ดังนี้

Safe-T-Score= อัตราความถี่ของการประสบอันตราย (ปัจจุบัน)-อัตราความถี่ของประสบอันตราย (อดีต)

ค่าของSTS เป็นค่าที่ไม่มีหน่วยซึ่งผลการคำนวณตามสูตรออกมาจะมีความหมายดังนี้

ถ้า +2 > STS >-2หมายความว่าปกติ

ถ้าSTS≥+2  หมายความว่าอัตราการประสบอันตรายในปัจจุบันแย่กว่าในอดีต

ถ้าSTS≤-2   หมายความว่าอัตราการประสบอันตรายในปัจจุบันดีกว่าในอดีต

(2)    การกำหนดให้มีข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีพอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานไว้ในสำนักงานควบคุมการก่อสร้าง

(3)    จัดวางระบบควบคุม กำกับดุแล ให้พนักงานปฏิบัติตามข้อบังคับ

  • การตรวจความปลอดภัย (Safety Inspection)

แนวทางการตรวจความปลอดภัย

  • ผู้ทำหน้าที่ตรวจความแลอดภัยของผู้รับจ้าง ตามที่กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีพอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจความปลอดภัย มีดังนี้
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระพับหัวหน้างาน มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพการทำงาน เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โดยกฎหมายได้กำหนดที่ซับซ้อน อันตราย หรือต้องการความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในการตรวจความปลอดภัย ดำเนินการเป็นระยะทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ตามความเหมาะสม
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร มีหน้าที่ตรวจความปลอดภัยโดยอยู่ในทีมของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีพอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จะเป็นการตรวจในสภาพของสถานที่ก่อสร้าง ช่วงเวลาในการตรวจดำเนินการเป็นระยะทุกเดือน ทุก 3 เดือน ตามความเหมาะสม
  • คณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานมีหน้าที่สำรวจปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงานโดยในการตรวจความปลอดภัยจะเป็นลักษณะการตรวจเยี่ยมเพื่อกระตุ้นพัฒนาและติดตามงานด้านความปลอดภัยในองค์การตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนงานความปลอดภัยโดยดำเนินการทุก 3 เดือนหรือโดยการสุ่มตรวจความปลอดภัยในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
  • หน่วยงานความปลอดภัยบุคลากรในหน่วยงานนี้มีหน้าที่ในการตรวจประเมินระบบความปลอดภัยในการทำงานในภาพรวมของสถานประกอบกิจการดังนั้นจึงเป็นทีมงานที่ตรวจความปลอดภัยในภาพรวมทั้งหมดซึ่งอาจดำเนินการทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือนหรือ 1 ปีตามแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยที่ผู้รับจ้างกำหนดตามความเหมาะสม
  • หัวหน้างานวางแผนกำหนดจุดตรวจที่จะทำการตรวจหมุนเวียนพายในแต่ละหน่วยงานโดยหัวหน้างานจะต้องตรวจจุดอันตรายประจำวันหรือได้รับแจ้งจากพนักงานและเร่งดำเนินการแก้ไขในทันที
  • ผู้บริหารได้แก่ผู้จัดการโครงการอยู่ในดุลยพินิจในการลงมาดำเนินการร่วมกับทีมงานคณะกรรมการความปลอดภัยฯหรือหน่วยงานความปลอดภัยเพื่อกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้นและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการเป็นระยะทุก 6 เดือนหรือโดยสุ่มตรวจร่วมกับหน่วยงานความปลอดภัย
  • ผู้เชียวชาญพิเศษดังเช่นตรวจระบบไฟฟ้าตรวจระบบภายในปั้มจั่นจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ได้รับอนุญาตในการตรวจสอบอุปกรณ์และระบบการทำงานของเครื่องจักรเหล่านั้นตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
  • วิธีการตรวจความปลอดภัย
  • แบบตรวจความปลอดภัยทั่วไป เป็นแบบตรวจประจำวันหรือประจำสัปดาห์ภายในหน่วยงานต่าง ๆ ทุกหน่วยงานที่มีงานตรวจสอบความปลอดภัย
  • แบบตรวจความปลอดภัยเฉพาะด้านต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านและ/หรือได้รับการฝึกอบรมโดยได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายให้สามารถดำเนินการตรวจและต้องดำเนินการตรวจเป็นระยะตามที่กฎหมายกำหนด
  • การแก้ไขปรับปรุงตามแบบตรวจความปลอดภัย

(4)    การกำกับดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามข้อบังคับ เพื่อป้องกันและควบคุมสาเหตุของอันตราย

  • การจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

ที่ปรึกษาสนับสนุนผู้รับจ้างดำเนินกิจกรรมหลักในการบริหารจัดการอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

  • อุปกรณ์ปกป้องศีรษะหรือหมวกนิรภัย

จะต้องสวมใส่ทุกคนในสถานที่ก่อสร้างหมวกนิรภัยชั้นคุณภาพA สามารถป้องกันการกระทบกระแทกและการเจาะทะลุของของแข็งการป้องกันจากอุบัติเหตุจะต้องเป็นหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐานรับรอง

  • อุปกรณ์ปกป้องใบหน้าและดวงตา

ลักษณะงานที่จะเป็นต้องใช้อุปกรณ์นี้ เช่น งานเชื่อมโลหะ มีหลายชนิดดังนี้

  • แว่นตานิรภัย (Safety Spectacles)

  • หลอดไฟฟ้า
  • ธง

บริเวณที่งานก่อนสร้างต้องปิดถนนด้านหนึ่งและให้การจรากจรผ่านได้ด้านหนึ่งจำเป็นที่จะต้องควบคุมการจราจรทั้งสองด้านโดยเฉพาะที่ระยะการปิดถนนนั้นยาวและมีปริมาณจราจรสูงการควบคุมจราจรโดยคนงานถือธงแดงและธงเขียวทั้งสองด้านของบริเวณและให้รถทางด้านเดียวผ่านในช่วงเวลาหนึ่งๆทางเลือกอื่นอาจใช้สัญญาณไฟจราจรชั่วคราว

3.4.5   จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลภายในสำหรับสำนักงานควบคุมการก่อสร้าง เพื่อให้พนักงานรวมทั้งพนักงานใหม่สามารทำงานได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีพอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยการจัดอบรมความปลอดภัย

ที่ปรึกษาสนับสนุนผู้รับจ้างวางแผนจัดการอบรมตามที่กฎหมายกำหนดและในหัวข้อต่าง ๆ ที่เหมาะสม

  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้
    • อบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับหัวหน้างาน โดยส่งพนักงานระพับหัวหน้างานเข้ารับการฝึกอบรม
    • อบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับบริหาร โดยส่งพนักงานที่ผู้รับจ้างแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับบริหารเข้ารับการฝึกอบรม
  • กฎกระทรวง กำหนดให้
    • อบรมและฝึกปฏิบัติตามข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน จนกว่าพนักงานจะสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องปลอดภัย
    • อบรมพนักงานก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ในกรณีรับพนักงานใหม่หรือให้พนักงานทำงานในลักษณะหรือสภาพของงานที่แตกต่างไปจากเดิม อันอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย/สุขภาพ

3.4.6   กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน

จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของพนักงานให้ตระหนักถึงความปลอดภัย อาชีพอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

(1)    การสนทนาความปลอดภัย (Safety Talk) จัดให้หลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุม การสาธิตสั้น ๆ (Short Demonstrations) การบรรยาย หรือการอภิปรายในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 5-10 นาทีก่อนที่จะเข้าทำงานหรือระหว่างพัก จะกำหนดหัวข้อการสนทนาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยครอบคลุมเรื่องที่เป็นปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับงาน

(2)    การจัดทำแผนป้ายแสดงสถิติอุบัติเหตุ

 

(5)    การประชาสัมพันธ์ และการรณรงค์ความปลอดภัยในการทำงาน

(6)   กลยุทธ์การบริหารและกำหนดหนทางแห่งวัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์กร

ที่ปรึกษาสนับสนุนผู้รับจ้างสร้างกลยุทธ์การบริหารและกำหนดหนทางแห่งวัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์การ ประหยัด การมีส่วนร่วมในความเชื่อ การปฏิบัติ และทัศนคติ ที่เป็นสิ่งเดียวกันของพนักงานในองค์กร วัฒนาธรรมความปลอดภัยนั้นสามารถกำหนดรูปแบบให้เกิดขึ้นได้ โดยมีการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย ผ่านทางการสื่อสาร โปสเตอร์ความปลอดภัย ป้ายเตือนและคู่มือความปลอดภัย ฯลฯ

3.4.7   กำหนดมาตรการควบคุม ดูแล และติดตามประเมินผลผู้รับจ้างก่อสร้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีพอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ที่ปรึกษาจะสนับสนุนและแนะนำผู้รับจ้างจัดทำงานเอกสารตามกฎหมายกำหนด ดังนี้

(1)    ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้

  • ผู้รับจ้างแจ้งชื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อขึ้นทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง เพื่อขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
  • ผู้รับจ้างแจ้งผลการอบรมของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีพอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน เป็นหนังสือต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภายใน 30 วัน นับแต่เสร็จสิ้นการอบรม ซึ่งหนังสือที่ส่งจะประกอบด้วย
    • ชื่อและที่ตั้งสถานที่ก่อสร้างของผู้รับจ้าง
    • กำหนดการอบรมที่มีการลงลายมือชื่อของวิทยากรในแต่ละหัวข้อวิชา
    • สำเนาใบรับรองของผู้ผ่านการอบรม
  • ผู้รับจ้างจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ให้จัดทำก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างและสอดคล้องกับแผนงานก่อสร้าง อย่างน้อยประกอบด้วยแผนต่าง ๆ ดังนี้
    • แผนควบคุมดูแลความปลอดภัยในการทำงานที่สอดคล้องกับกฎหมายความปลอดภัยกับในการทำงาน
    • แผนฝึกอบรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานแก่พนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
    • แผนรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน
    • แผนฉุกเฉินกรณีอุบัติเหตุในการทำงาน
    • แผนการตรวจสอบ วิเคราะห์ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
  • ผู้รับจ้างจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานสำหรับงานก่อสร้าง ประกอบด้วยรายละเอียด เช่น ชื่อโครงการหรือกิจกรรม วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย งบประมาณ แผนการปฏิบัติงาน ซึ่งระบุวิธีการ ขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการหรือกิจกรรม วิธีการประเมินผลโครงการหรือกิจกรรม ระยะเวลาการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขแผนงานและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ

(2)    มาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขที่ นร.0250/7877 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2543 กำหนดให้

  • ผู้รับจ้างจัดทำแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยในการทำงานอย่างละเอียดชัดเจน ให้สอดคล้องกับระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง แล้วยื่นพิจารณาอนุมัติต่อที่ปรึกษาและกรมทางหลวงชนบท ก่อนการดำเนินการก่อสร้างภายใน 30 วันนับแต่วันที่แจ้งให้เริ่มงาน
  • ผู้รับจ้างรายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานความปลอดภัยฯ ต่อที่ปรึกษาและกรทางหลวงชนบท อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในเรื่องการตรวจสอบติดตามวิธีการทำงานและสภาพของงานในบริเวณหน่วงงานก่อสร้างให้เกิดความปลอดภัย พร้อมปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ผู้รับจ้างจัดทำเอกสารรายละเอียดเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับ ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง สามารถปฏิบัติงานได้จริง โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ ประกอบด้วย
    • กำหนดนโยบายความปลอดภัยและสุภาพอนามัยในการทำงาน
    • การจัดองค์กรความปลอดภัยในงานก่อสร้างและหน้าที่ความรับผิดชอบ
    • กฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
    • การฝึกอบรมความปลอดภัย
    • กำหนดมาตราป้องกันและควบคุมอันตราย
    • การตรวจความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง
    • กำหนดกฎความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง
    • การควบคุม ดูแลความปลอดภัยของผู้รับเหมาช่วง
    • การตรวจสอบและติดตามผลความปลอดภัย
    • การรายงานอุบัติเหตุและการสอบสวน วิเคราะห์อุบัติเหตุ
    • การรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย
    • การปฐมพยาบาล
    • การวางแผนฉุกเฉิน
    • การจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง
    • อื่นๆ

(3)    กฎกระทรวง กำหนดให้

  • ผู้รับจ้างให้มีการตรวจสอบสภาพเครื่องจักร ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีและปลอดภัย ตามระยะเวลา การใช้งานที่เหมาะสม และจัดให้มีการตรวจสอบรับรองประจำปีตามชนิดและประเภทกฎหมายกำหนด
  • หากผู้รับจ้างอนุญาตพนักงานเข้าพักอาศัยในบริเวณเขตก่อสร้าง จัดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยและให้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากวิศวกร และให้เก็บหนังสือไว้ ณ ที่ก่อสร้างเพื่อให้พนังงานตรวจความปลอดภัยทำการตรวจสอบได้
  • ผู้รับจ้างจัดให้มีคู่มือการติดตั้ง ประกอบ การทดสอบ การใช้งาน การซ่อมบำรุง และการตรวจสอบเครื่องตอกเสาเข็ม ที่ผู้ผลิตกำหนดหรือตามที่วิศวกรได้จัดทำขึ้นเป็นหนังสือ เมื่อทำการติดตั้งแล้วเสร็จ วิศวกรดำเนินการตรวจบันทึก วันเวลาและผลการตรวจสอบรับรองว่าถูกต้องเป็นไปตามที่วิศวกรออกแบบและกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะไว้ และจัดเก็บเอกสารผลการตรวจดังกล่าวไว้ให้ พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ตลอดเวลา
  • ผู้รับจ้างจัดให้มีข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน โดยข้อบังคับนั้นจะกำหนดขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย
  • ผู้รับจ้างซึ่งมีผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงเข้ามาปฏิบัติงาน จัดให้มีข้อบังคับและคู่มือความปลอดภัยสำหรับผู้เหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงดังกล่าวด้วย
  • ผู้รับจ้างส่งรายงานผลการดำเนินงานเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพให้เป็นไปตาม จป.(ว) ทุก 3 เดือนตามปีปฏิทิน ภายในเวลาไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด
  • ผู้รับจ้างจัดทำสำเนาบันทึก รายงานการดำเนินการหรือรายงานการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและหน่วยงานความปลอดภัย พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ
  • ผู้รับจ้างจัดส่งสำเนารายชื่อคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และหน้าที่รับผิดชอบ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่แต่งตั้งหรือมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ

(4)    การติดตามประเมินผลผู้รับจ้างก่อสร้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

  • การประเมินผลจากแบบตรวจความปลอดภัย โดยใช้แบบตรวจที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมอันตรายในสถานที่ก่อสร้างและสำนักงานสนาม รวมทั้งสิ่งปลกสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานผลการตรวจจะเป็นตัวเลขคะแนน ซึ่งสามารถวัดผลได้ หน่วยงานความปลอดภัยและผู้เกี่ยวข้องควรพยายามปรับปรุงแก้ไขปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายในการทำงาน และพยายามรักษาระดับคะแนนไม่ให้ลดลงตลอดไป
  • การเก็บสถิติการประสบอันตรายจากการทำงาน หน่วยงานความปลอดภัยจะต้องรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ และจัดทำรายงาน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตรายการเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อน รำคาญอันเนื่องจากการทำงาน มีการสรุปผลแต่ละเดือน และนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯ และจัดส่งให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่

3.4.8   การป้องกันอันตรายจากการติดตั้งวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยในการก่อสร้าง

ที่ปรึกษาเสนอแนะและให้คำปรึกษาผู้รับจ้าง ดำเนินการป้องกันอันตรายที่แฝงตัวอยู่ในทุกช่วงระยะเวลาการก่อสร้างโดยการติดตั้งวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ทั้งปวงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในงานก่อสร้าง ดังนี้

(1)    การกั้นเขตก่อสร้างบนถนนสาธารณะด้วยก้อนคอนกรีต Barrier และ/หรือ สังกะสี

(2)    การปิดรูเสาเข็ม เพื่อป้องกันพนักงานและบุคคลทั่วไปตกลงไป

(3)    การติดตั้งราวกันตกพร้อมป้ายเตือนบริเวณทางต่างระดับ

(4)    การปิดฝาบ่อพักทุกชนิดทุกพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกัน ยานพาหนะหรือคนตกลงไป

(5)    การติดตั้งปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ได้จะต้องยืดขาให้สุดและใช้แผ่น Aluminum Grillage รองรับบนพื้นที่เรียบและมั่นคงแข็งแรง

(6)    การจัดทำภาชนะรองรับถังลม ถังแก๊ส ถังดับเพลิง เพื่อความปลอดภัย

(7)    เครื่องจักรชุดปูผิดแอสฟัลติกคอนกรีต จัดให้มีเสียงสัญญาณและไฟกระพริบทุกคันเพื่อป้องกันการชนทับพนักงาน

(8)    ในกรณีฉุกเฉินหรือการปฏิบัติงานระยะสั้นๆ อนุโลมให้ใช้รถงานที่มีไฟกระพริบสีเหลืองมาจอดไว้หรือติดตั้งไฟกระพริบสีเหลืองไว้ในที่เห็นชัดเจนแทนก็ได้

(9)    ผู้รับจ้างจัดให้มีการกวาดหรือฉีดล้างทำความสะอาดถนนเพื่อป้องกันและลดการเกิดฝุ่นหรือโคลนบนผิวจราจร

(10)  ผู้รับจ้างจัดให้มีการติดตั้งป้ายเตือนก่อนถึงทางเบี่ยงและกั้นเขตก่อสร้างช่วงพื้นที่ก่อสร้าง

 

3.5      มาตรการลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

การลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้างสำหรับโครงการขนาดใหญ่ ที่มีแนวเส้นทางอยู่ในเขตทางของทางหลวง และอยู่ใกล้ชุมชน เป็นเรื่องที่ที่ปรึกษาถือว่ามีความสำคัญมากในการดำเนินโครงการ โดยได้จัดเตรียมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ละควบคุมดูแลให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุในเอกสารสัญญาอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางเบื้องต้นในการลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะก่อนการก่อสร้าง และระยะระหว่างการก่อสร้าง สรุปได้ ดังแสดงในตารางที่ 3.5-1และตารางที่ 3.5-2