บทที่ 1 บทนำ

บทที่ 1

บทนำ

1.1      ความเป็นมาของโครงการ

กรมทางหลวงชนบทมีถนนในความรับผิดชอบที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวน  153  แห่ง และด้วยเหตุที่ปัจจุบันปริมาณการจราจรบนถนนดังกล่าวมีจำนวนสูงขึ้นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกับยานพาหนะบ่อยครั้ง  กรมทางหลวงชนบทจึงมีแผนปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟดังกล่าว  ให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย  ที่กำหนอให้บริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟที่มีค่าคูณควบจราจร  (Traffic  Movement ; T.M.)  มากกว่า 100,000 จะต้องก่อสร้างเป็นทางต่างระดับในรูปแบบของสะพานหรืออุโมงค์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุอย่างสมบูรณ์ และทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการสัญจรของรถไฟและยานพาหนะบนถนนของกรมทางหลวงชนบท รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง (โครงการรถไฟทางคู่) ของกระทรวงคมนาคม

ถนนสาย สค.2032 แยก ทล.35 – บ.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เป็นส่วนหนึ่งในถนนของกรมทางหลวงชนบท ที่ได้รับงบประมาณประจำปี ๒๕๕๙ ให้ดำเนินการก่อสร้างทางต่างระดับเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ โดยมีรูปแบบพื้นสะพานเป็นโครงสร้างพิเศษแตกต่างจากสะพานทั่วไปซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคคลากรที่มีประสบการณ์และชำนาญการในการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างทำหน้าที่บริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้างตลอดจนแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  แต่เนื่องด้วยกรมทางหลวงชนบทมีบุคคลากรที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการควบคุมงานก่อสร้างสะพานนี้ค่อนข้างจำกัด  ประกอบกับมีงานก่อสร้างอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบอีกเป็นจำนวนมาก  จึงจำเป็นต้องจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่มีความรู้ ชำนาญการและประสบการณ์ในการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างสะพานในลักษณะเดียวกันนี้  ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมงานแทน

1.2      วัตถุประสงค์ของโครงการ

กรมทางหลวงชนบท ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “กรม” มีความประสงค์จะว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ที่ปรึกษา” ให้ควบคุมงานก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย สค.2032 แยก ทล.35 – บ.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

1.3      ขอบข่ายของงานและหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษา

ที่ปรึกษาต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมงานหรือวิศวกรของผู้ว่าจ้างในการควบคุมการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟให้เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์และให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวมถึงระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีงานที่ต้องปฏิบัติดังนี้

1.3.1   งานควบคุมการก่อสร้างและบริหารโครงการ

1)  ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การก่อสร้างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

2)   กำกับดูแลการสำรวจเพื่อกำหนดเขตก่อสร้างของผู้รับจ้าง โดยต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับตำแหน่ง จุดพิกัด และระดับหมุดหลักฐานของโครงการ รวมถึงการจัดทำหมุดหลักฐานชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อง่ายต่อการก่อสร้างและตรวจสอบ

3)   กำกับการประสานงานของผู้รับจ้างกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดหรือเจ้าหน้าที่ของกรม ในการปักหมุดเขตที่ดิน (เพิ่มเติม) ในที่ดินที่ได้จากการอุทิศหรือที่ได้จากการเวนคืน และร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อให้กรมสามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างได้ตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม

4)   ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างว่ามีปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ของหน่วยงานอื่น และมีสาธารณูปโภคที่กีดขวางซึ่งต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่

5)   ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมในการจัดการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่องรวมถึงการแจ้งให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้าเพื่อจะได้เตรียมตัวรับผลกระทบนั้นๆ ด้วยความเข้าใจ แล้วรายงานให้กรมทราบภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่ได้ทำกิจกรรมแล้วเสร็จ

6)   ตรวจสอบแบบก่อสร้าง คุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้างและเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่ามีความถูกต้องเหมาะสมและมีข้อขัดแย้งกันหรือไม่ แล้วรายงานให้กรมทราบภายใน 30 วัน นับจากวันที่เริ่มปฏิบัติงาน พร้อมเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่องานก่อสร้าง

7)   ตรวจสอบเปรียบเทียบใบแจ้งปริมาณงานและราคาที่มีการประเมินราคาแล้วกับรูปแบบและพื้นที่การก่อสร้าง แล้วรายงานให้กรมทราบภายใน 30 วัน นับจากวันที่เริ่มปฏิบัติงาน

8)   ให้บุคลากรหลักทุกตำแหน่งของที่ปรึกษา (ยกเว้นผู้จัดการโครงการและวิศวกรประจำโครงการ) ตรวจสอบ ทบทวนแบบก่อสร้างและข้อกำหนดต่างๆที่ระบุในสัญญาในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนะสิ่งที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นแบบ วัสดุ หรือรายการซึ่งแตกต่างจากข้อตกลงเดิม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของโครงการและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใน 90 วัน นับแต่กรมได้แจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน กรณีมีข้อเสนอแนะที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแข็งแรง จะต้องแสดงรายการคำนวณและหรือการวิเคราะห์ตามหลักวิศวกรรมและหรือสถาปัตยกรรมประกอบด้วย

9)   วางแผนจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างให้เกิดผลกระทบต่อจราจร สิ่งแวดล้อมและประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งต้องสอดคล้องกับนโยบายของกรม แล้วแจงผู้รับจ้างให้ถือปฏิบัติ พร้อมควบคุมการดำเนินการของผู้รับจ้างให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว

10) ในกรณีที่มีงานก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภคดำเนินการไปพร้อมกับงานก่อสร้างของโครงการ ที่ปรึกษาจะต้องประสานงานและจัดลำดับขั้นตอนงานก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภคให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่องานก่อสร้างของกรม

11) ตรวจสอบและให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการก่อสร้างที่ผู้รับจ้างเสนอ รวมถึงบุคลากรและเครื่องมือและเครื่องจักรอุปกรณ์ของผู้รับจ้าง แล้วรายงานให้กรมทราบภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือจากผู้รับจ้าง

12) ควบคุมการก่อสร้างงานทุกรายการตามรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในสัญญาจ้างก่อสร้าง รวมถึงงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อให้ได้รูปแบบและคุณภาพถูกต้องตามที่ระบุในเอกสารสัญญา

13) ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างให้มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในแบบและคุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้าง แล้วให้จัดทำรายงานตามแบบฟอร์มของกรม (แบบ ทส.) หากพบวัสดุใดที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ผ่านการทดสอบ ที่ปรึกษาต้องสั่งการผู้รับจ้างให้นำวัสดุนั้นออกไปให้พ้นบริเวณสถานที่ก่อสร้าง ทั้งนี้ที่ปรึกษาต้องควบคุมการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในการนำวัสดุดังกล่าวไปประกอบ หรือติดตั้งให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ และเก็บรวบรวมผลทดสอบทั้งหมดไว้ให้ครบถ้วนพร้อมที่จะให้กรมเรียกดูได้ตลอดเวลา

14) ตรวจสอบความถูกต้องของแนวเส้นทาง (Alignment) และค่าระดับ (Level) ของงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้

15) ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบแบบขยายรายละเอียด (Shop Drawing) รวมถึงเอกสารต่างๆ และวัสดุตัวอย่างที่ผู้รับจ้างเสนอใช้ในการก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จทันก่อนที่ผู้รับจ้างจะเริ่มทำก่อสร้างรายการนั้น

16) บันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในแต่ละวัน (จัดทำจำนวน 2 ชุด) ประกอบด้วยรายละเอียดงานที่ดำเนินการ วัสดุที่ใช้ สภาพดินฟ้าอากาศบริเวณสถานที่ก่อสร้าง ปัญหาอุปสรรคและการหยุดงานพร้อมสาเหตุ (ถ้ามี) โดยให้รวบรวมบันทึกการปฏิบัติงานพร้อมสรุปความก้าวหน้าไว้เป็นรายสัปดาห์ พร้อมที่จะให้กรมเรียกดูได้ตลอดเวลา

17) รายงานผลงานความก้าวหน้าของโครงการเป็นรายเดือน พร้อมผลการตรวจสอบปริมาณงานที่ผู้รับจ้างทำได้จริงในแต่ละเดือน และผลการเบิกเงินของผู้รับจ้างและเปรียบเทียบกับแผนการใช้จ่ายเงินของกรม

18) ตรวจสอบความถูกต้องของงานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างดำเนินการแล้วเสร็จโดยเปรียบเทียบกับรูปแบบที่กำหนดในสัญญาจ้าง แล้วจัดทำรายงานตามแบบฟอร์มของกรม (แบบ คส.)  และ/หรือแบบฟอร์มอื่นที่ที่ปรึกษาเห็นควรจัดทำเพิ่มเติม ให้แล้วเสร็จก่อนมีการตรวจรับงานในแต่ละงวด

19) เมื่องานก่อสร้างตามโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดหรือแล้วเสร็จเป็นบางส่วน ที่ปรึกษาจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของงานและรับรองวันที่งานแล้วเสร็จ แล้วทำรายงานให้กรมทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด

20) ให้คำแนะนำผู้รับจ้างในการแก้ไขงานที่บกพร่องหรือเสียหาย เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพที่ดี ถูกต้องตรงตามรูปแบบ (Drawing) และข้อกำหนดทางเทคนิค (Technical Specification)รวมถึงเป็นไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดในเอกสารสัญญา

21) ในระหว่างการก่อสร้าง หากพบว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างหรือวัสดุหรือจำเป็นต้องเพิ่มเติมรูปแบบและรายการ เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ปรึกษาจะต้องตรวจสอบและพิจารณาออกแบบแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมจนได้ข้อสรุปที่เหมาะสม แล้วเสนอให้กรมพิจารณาอนุมัติ

22) เจรจาต่อรองกับผู้รับจ้างเกี่ยวกับงานและค่าจ้าง ที่มิได้ระบุไว้ในสัญญาให้ได้ข้อยุติ แล้วเสนอให้กรมพิจารณาให้ความเห็นชอบ

23) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อแนะนำกรม ในกรณีที่ผู้รับจ้างเรียกร้องขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง รวมถึงข้อเรียกร้องเพิ่มเงินค่าจ้างและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

24) รายงานข้อปัญหาร้องเรียนต่างๆ ที่อาจมีขึ้น เนื่องจากผลกระทบการก่อสร้างให้เจ้าหน้าที่ของกรมรับทราบพร้อมข้อเสนอแนะ รวมทั้งต้องติดตามการแก้ไขปัญหาจนได้ผลเป็นที่พึงพอใจแก้ผู้ร้องเรียน

25) จัดเก็บเอกสารการดำเนินงานตามสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างในทุกขั้นตอนให้ครบถ้วน โดยจัดแยกแฟ้มเป็นหมวดหมู่ให้สะดวกต่อการค้นหาและพร้อมที่จะให้กรมเรียกดูได้ตลอดเวลาปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมจนได้ข้อสรุปที่เหมาะสม แล้วเสนอให้กรมพิจารณาอนุมัติ

26) รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมงานก่อสร้างตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกระทั่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จ (เช่น รายงานการปฏิบัติงานประจำวัน รายงานผลการก่อสร้างประจำเดือน ผลการตรวจสอบงานก่อสร้าง ผลการทดสอบวัสดุ รายงานการประชุมและเอกสารเบิกจ่ายค่าก่อสร้าง เป็นต้น) ในรูปแบบ File Acrobat และบันทึกลงใน Portable Hard Disk เพื่อส่งมอบให้กรมหลังจากงานก่อสร้างแล้วเสร็จ

27) ตรวจสอบแบบก่อสร้างจริง (As-Built Drawings) ที่ผู้รับจ้างจัดทำเสนอให้ถูกต้องเป็นไปตามผลการก่อสร้างซึ่งอาจมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างไปจากแบบก่อสร้างคู่สัญญา

28) ในช่วงระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง ที่ปรึกษาต้องตรวจสอบสภาพของงานจ้างและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบให้กรมทราบทุกระยะ 3 เดือน นับถัดจากวันตรวจรับงานวันสุดท้าย โดยในรายงานดังกล่าวให้ระบุถึงรายการที่พบว่ามีความชำรุดเสียหายและภาพถ่ายประกอบ การวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความเสียหายพร้อมเสนอวิธีการแก้ไข และวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในลักษณะเช่นเดิมอีก พร้อมให้ระบุว่าความชำรุดเสียหายดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับจ้างที่จะต้องซ่อมแซมตามเงื่อนไขสัญญาหรือไม่  ในกรณีที่กรมเห็นว่าควรมีการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องเพิ่มเติมอีก ที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการโดยไม่ชักช้าและไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งนี้ที่ปรึกษาจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการซ่อมแซมให้ด้วยจนกว่าผู้รับจ้างจะทำการซ่อมแซมแล้วเสร็จ แล้วรายงานผลการซ่อมแซมให้กรมทราบต่อไปโดยเร็ว

29) ก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้างประมาณ 1 เดือน ที่ปรึกษาจะต้องตรวจสอบงานจ้างอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง หากไม่พบความชำรุดบกพร่อง ให้ที่ปรึกษารายงานผลให้กรมทราบโดยเร็วเพื่อจะได้พิจารณาคืนหลักประกันให้แก่ผู้รับจ้าง แต่ในกรณีที่พบว่ามีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น ที่ปรึกษาจะต้องให้คำแนะนำและช่วยเหลือกรมในแนวทางเดียวกับข้อ 28จนกว่าผู้รับจ้างจะทำการซ่อมแซมแล้วเสร็จสมบูรณ์ แล้วรายงานผลให้กรมทราบเพื่อจะได้พิจารณาคืนหลักประกันสัญญาให้แก่ผู้รับจ้างต่อไป

30) นอกจากจะต้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในขอบเขตของงานนี้แล้ว ที่ปรึกษาสามารถเสนอการดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติมที่เห็นว่าเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาเพื่อให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยมั่นคง แข็งแรง สวยงาม และถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม

31) ความรับผิดชอบของที่ปรึกษาสำหรับงานจ้างควบคุมงานนี้ จะมีอยู่จนถึงวันที่กรมได้ให้ความเห็นชอบคืนหลักประกันสัญญาให้ผู้รับจ้าง

1.3.2    งานจัดทำสื่อในการนำเสนอข้อมูลโครงการ

1)  จัดทำภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงแบบ 3 มิติ (3D Simulate Animation) แสดงโครงข่ายต่อเชื่อมเส้นทาง ภาพโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและสภาพแวดล้อมสองข้างทาง โดยจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 เดือน นับถัดจากวันเริ่มปฏิบัติงาน (กรมจะกำหนดให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้)

2) จัดทำWebsite ของโครงการ มีเนื้อหาประกอบด้วยเหตุผลความจำเป็นของโครงการ แผนที่ทีตั้งโครงการ ข้อมูลสัญญาจ้างและรายละเอียดโครงการ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ภาพถ่ายความก้าวหน้าของโครงการ %ผลการก่อสร้าง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (เช่น การจัดการจราจรระหว่งาก่อสร้าง การประชุมต่างๆที่เกิดขึ้นในโครงการ การมีส่วนร่วมภาคประชาชนและการประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นต้น) และกระดานรับฟังความคิดเห็นข้อร้องเรียนจากประชาชน โดยจะต้องทำการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน

3) จัดทำภาพถ่ายความก้าวหน้าของโครงการทุกเดือนในรูปแบบ Digital File โดยให้เริ่มบันทึกภาพสถานที่ก่อสร้างก่อนการดำเนินการก่อสร้าง (ถ่ายทุกระยะ 100-250 เมตร ในตำแหน่งเดิมทุกเดือน) และในส่วนของงานโครงสร้าง ให้บันทึกภาพการดำเนินงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียดครบถ้วน

4) จัดทำSlide Presentation ภายใต้โปรแกรม Microsoft Power Point แสดงผลงานที่ผู้รับจ้างขอส่งมอบงานพร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้ในการนำเสนอให้คณะกรรมการตรวจการจ้างพิจารณาในการตรวจรับงานก่อสร้างแต่ละครั้ง

5) จัดทำวีดิทัศน์พร้อมเสียงบรรยายภาษาไทย แสดงการก่อสร้างในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกระทั่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมถึงปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไข โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนและสามารถนำเสนอได้ทั้งแบบต่อเนื่องและแบบเลือกเฉพาะตอน

1.3.3    งานเสริมสร้างองค์ความรู้ (KM)

ที่ปรึกษาจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมงานก่อสร้างโครงการนี้ให้แก่บุคคลากรของกรม  โดยจัดสัมมนาบุคคลไม่น้อยกว่า 20 คน อย่างน้อย 1 ครั้ง ตามหัวข้อที่กรมพิจารณาเห็นว่ามีความเหมาะสมและเป็นที่น่าสนใจพร้อมจักทำเป็นเอกสารบทความมอบไว้ให้กรมไว้ใช้เผยแพร่ให้แก่บุคคลากรของกรมรวมถึงบุคคลากรภายนอกได้นำไปศึกษาเรียนรู้ พื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฎิบัติงานได้จริง โดยรายละเอียดขององค์ความรู้ดั่งกล่าวจะต้องประกอบด้วยแนวคิด ประโยชน์ที่ได้รับ ขั้นตอนการปฎิบัติงานและภาพถ่ายประกอบ พร้อมเอกสารอ้างอิง เช่นผลการทดสอบและเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ นอกจากนี้ที่ปรึกษาจะต้องเตรียมความพร้อมให้แกบุคคลากรของกรมที่ร่วมทำงานในโครงการนี้ให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว  เพื่อสามารถนำมาเสนอองค์ความรู้นี้ร่วมกับที่ปรึกษาได้

1.4      ระยะเวลาดำเนินงาน

ที่ปรึกษาจะต้องเริ่มปฏิบัติงานทันที นับตั้งแต่วันที่กรมระบุในหนังสือให้เริ่มปฏิบัติงาน (Notice for Process) ระยะเวลาดำเนินการเป็นดังนี้

1)  การควบคุมงานก่อสร้าง

     กรมกำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ จำนวน 720 วัน ในกรณีที่ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างจริงเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ที่ปรึกษาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไปจนกว่างานจะแล้วเสร็จและสัญญานี้ก็จะขยายออกไปเท่ากับระยะเวลาที่เกินนั้น โดยค่าใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาส่วนที่เกินกำหนด กรมจะพิจารณาเป็นแล้วแต่กรณี

2)  ระยะเวลาบำรุงรักษา มีระยะเวลา 2 ปี หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา

1.5      ระยะเวลาการส่งมอบผลการดำเนินงาน

ในระหว่างการดำเนินการที่ปรึกษาจะจัดทำและจัดส่งรายงาน สื่อการนำเสนอและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับงานตามข้อ 1.3.1 และ1.3.2 แล้วส่งมอบให้กรมตามกำหนดเวลาดังนี้

1)    รายงานเบื้องต้นและแผนปฏิบัติงาน (Inception Report) ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยข้อมูลโครงการ ขอบเขตของงาน แนวทางและวิธีการควบคุมงานก่อสร้าง บุคลากร แผนการปฏิบัติงานบุคลากร และแผนการทำงานตามสัญญาของที่ปรึกษา เสนอต่อกรมจำนวน 7 ชุด ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน

2)    DVD บันทึกภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงแบบ 3 มิติ (3D Simulate Animation)เสนอต่อกรม จำนวน 2 ชุด ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติงาน

3)    Website เผยแพร่ข้อมูลโครงการและความก้าวหน้าของโครงการ เสนอต่อกรม ภายใน 60 วัน นับจากวันเริ่มปฎิบัติงาน

4)    รายงานความก้าวหน้าประจำเดือน (Monthly Progress Report) ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยผลงานก่อสร้างในรอบเดือนและผลงานสะสม (พร้อมภาพถ่าย Progress chart  ปัญหาอุปสรรคและการแก้ไขรายงายการเกิดอุบัติเหตุ  สรุปผลการตรวจสอบคุณภาพงานและการทดสอบวัสดุ และการประชุมที่เกิดขึ้นในรอบเดือน)สรุปรายการส่งมอบและตรวจรับงาน สรุปผลการเบิกจ่ายงบประมาณค่าก่อสร้าง สรุปงานที่ที่ปรึกษาได้ปฎิบัติในรอบเดือน รายงานการปฏิบัติงานของบุคลากรในรอบเดือน และแผนการทำงานของที่ปรึกษาในเดือนต่อไป)เสนอต่อกรม จำนวน 7 ชุด ภายใน 5 วันนับถัดจากวันที่สรุปผลงานของเดือนนั้น

5)    แบบก่อสร้างจริง  (As-built Drawing) ในรูปแบบดังนี้

-  แบบขนด A3 เข้าเล่มพร้อมปก จำนวน 3 ชุด

-  แบบขนาด A3 ไม่ต้องเข้าเล่ม จำนวน 1 ชุด

-  DVD บันทึกในรูป PDF File จำนวน 3 ชุด

-  DVD บันทึกในรูป DWG File จำนวน 3 ชุด

เสนอต่อกรม ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันตรวจรับงานงวดสุดท้าย

6)       Portable Hard Disk บรรจุข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมงานก่อสร้างตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกระทั่งงานแล้วเสร็จ (เช่นสัญญาจ้างและสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม รายละเอียดงวดงานและที่แก้ไขเพิ่มเติม เอกสารประกวดราคา BOQ  คุณลักษณะเฉพาะและข้อกำหนดรายละเอียดการก่อสร้าง  รายงานการปฏิบัติงานประจำวัน  รายงานความก้าวหน้าประจำเดือน  ผลการตรวจสอบงานก่อสร้าง  ผลการตรวจสอบและทดสอบวัสดุ รายงานการประชุม  เอกสารการส่งมอบงานและเบิกจ่ายค่าก่อสร้างและภาพถ่ายงานก่อสร้างในทุกขั้นตอน เสนอต่อกรม จำนวน 2 ชุด ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันตรวจรับงานงวดสุดท้าย

7)       รายงานสรุปผลการประชาสัมพันธ์และการจัดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน พร้อมเอกสารและภาพถ่ายประกอบ เสนอต่อกรม จำนวน 2 ชุด ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันตรวจรับงานงวดสุดท้าย

8)       จัดทำวีดิทัศน์พร้อมเสียงบรรยายภาษาไทย  แสดงการก่อสร้างในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างจนกระทั่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จรวมถึงปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไข  โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนและสามารถนำเสนอได้ทั้งแบบต่อเนื่องและแบบเลือกเฉพาะตอน เสนอต่อกรม จำนวน 3 ชุด ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันตรวจรับงานงวดสุดท้าย

9)       คู่มือการตรวจสอบและบำรุงรักษาสะพาน (Maintenance Manual) ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วย รายงานสิ่งก่อสร้างที่เป็นองค์ประกอบของสะพานพร้อมรูป รายการวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องทำการตรวจสอบพร้อมรูป วิธีการตรวจสอบ ตัวอย่างลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสะพานที่มีลักษณะเดียวกัน หรือคล้ายกันกับสะพานโครงการ  สาเหตุแห่งความเสียหายและวิธีการแก้ไข เป็นต้นในรูปแบบดังนี้

-  เอกสารขนาด A4จำนวน 3 ชุด

-  DVD บันทึกข้อมูล จำนวน 3 ชุด

เสนอต่อกรม ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันตรวจรับงานงวดสุดท้าย

10)   รายงานสรุปโครงการ (Final Report) ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยความเป็นมาของโครงการ แผนที่ตั้งโครงการ ลักษณะโครงการ ข้อมูลสภาพชั้นดิน ขั้นตอนการก่อสร้าง ปัญหาอุปสรรคและการแก้ไข การแก้ไขเพิ่มเติมงานก่อสร้าง การตรวจสอบคุณภาพและทดสอบวัสดุ สรุปปริมาณงานและรายละเอียดเบิกจ่ายค่าก่อสร้าง แหล่งวัสดุและโรงงานผลิต การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง บุคลากรที่เกี่ยวข้องในโครงการ และการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ปรึกษา เป็นต้น ในรูปแบบดังนี้

-  เอกสารขนาด A4 จำนวน 3 ชุด

-  DVD บันทึกข้อมูล จำนวน 3 ชุด

เสนอต่อกรม ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันตรวจรับงานงวดสุดท้าย

11)   รายงานในช่วงระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง

  -  รายงานผลการตรวจสอบสภาพของงานจ้างพร้อมภาพถ่าย ทุกระยะ 3 เดือน  เสนอต่อกรม จำนวน 2 ชุด ภายใน 7 วัน หลังจากครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือน

  -  รายงานผลการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง (ถ้ามี) พร้อมภาพถ่าย เสนอต่อกรม จำนวน 2 ชุด ภายใน 7 วัน หลังจากครบกำหนดการซ่อมที่ระบุในหนังสือแจ้งผู้รับ

12)  รายงานสรุปผลการตรวจสอบและซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานจ้างที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องตามสัญญา เสนอต่อกรม จำนวน 3 ชุด ภายใน 30 วัน หลังจากคืนหลักประกันสัญญาให้แก่ผู้รับจ้าง

1.6      วัตถุประสงค์ของรายงาน

          เพื่อรายงานความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง และที่ปรึกษา นับตั้งแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงานคือ วันที่ 1 มิถุนายน 2559 และทำการส่งรายงานเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเสนอต่อกรมทางหลวงชนบท โดยในรายงานความก้าวหน้าประจำเดือน ได้ชี้แจงรายละเอียดของงานที่ที่ปรึกษาปฏิบัติ เช่น การควบคุบคุณภาพวัสดุ การควบคุมวิธีการก่อสร้างของผู้รับจ้างให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม การดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การจัดการจราจร และอื่นๆ ที่เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมงานพึงจะปฏิบัติ รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ แนวทางการแก้ไข และวิเคราะห์สภาวะของโครงการ เพื่อดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และนโยบายของกรมทางหลวงชนบท